อวกาศที่ดูไกลตัวนั้น แท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทุกคน ทั้งการสร้างนวัตกรรมหลาย ๆ ชิ้นที่เราเห็นว่า เป็นการต่อยอดจากเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงการเมืองก็เช่นกัน ซึ่งเราเห็นได้ชัดตั้งแต่ยุคสงครามเย็นว่า ประเทศไหนที่ไปอวกาศได้ ประเทศนั้นก็มีอำนาจอย่างชัดเจน และนั่นอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้กระทรวงกลาโหมประเทศไทย เตรียมเปลี่ยนชื่อ ‘กองทัพอากาศ’ เป็น ‘กองทัพอากาศและอวกาศ’ เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพด้านอวกาศเพิ่มขึ้นเทียบเท่ากับนานาประเทศ
เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2567 มีรายงานว่ากำลังจะมีการเสนอต่อที่ประชุมสภากลาโหมเพื่อเปลี่ยนชื่อจากกองทัพอากาศเป็น ‘กองทัพอากาศและอวกาศ’ ซึ่งกองทัพอากาศไทยมีภาระงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยด้านอวกาศมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว อย่างการส่งดาวเทียม NAPA-1 และ NAPA-2 ขึ้นสู่อวกาศในปี 2563-2564 หรือการตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอวกาศหลายหน่วย เช่น ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนยีการบินและอวกาศกองทัพอากาศ (ศวอ.ทอ.) หรือศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศกองทัพอากาศ (ศปอว.ทอ.)
แต่เมื่อพูดถึงกองทัพด้านอวกาศ หรือ Space Force แล้ว มันคือการตั้งใจให้พื้นที่อวกาศเป็นพื้นที่ที่มีการใช้กำลังทางการทหารกัน ในขณะที่ทางด้านการเมือง หลายคนยังคงถกเถียงกันว่า อวกาศเป็นพื้นที่ของใคร หรือพื้นที่อวกาศสามารถทำการสงครามได้ไหม หรือมันควรจะเป็นพื้นที่เพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้นสำหรับช่วงเวลานี้ แม้ว่างานในช่วงต้นของการมีกองทัพอวกาศ คือ การวิจัยด้านอวกาศ โดยจะเกี่ยวข้องกับการสื่อสารและการถ่ายทอดสัญญาณ ที่อาจโยงไปถึงเรื่องการพัฒนาดาวเทียม แต่ก็อาจจะมีผลกระทบอื่นที่ตามมา
แต่สิ่งที่อาจจะตามมาในอนาคตจากการดาวเทียม เมื่อประเทศไทยเราอยากจะส่งดาวเทียมขึ้นไปเองบ้าง ในตอนนั้นอาจหมายถึงการพัฒนา ‘จรวด’ ที่สามารถส่งดาวเทียมขึ้นสูงเกิน 100 กิโลเมตรจากพื้นโลกได้ ซึ่งนั่นหมายถึงการพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีป ที่นอกจากจะยิงไปได้ไกลแล้ว ยังจำเป็นจะต้องมีเรดาร์ติดตามขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง เพื่อติดตามตำแหน่งการส่งดาวเทียมว่าไปถึงไหนแล้ว และนั่นจะทำให้เรามีอำนาจทางการทหารมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบไปยังเรื่องการเมืองระดับนานาชาติ เพราะโลกใบนี้มีประเทศที่สามารถทำจรวดเพื่อการขนส่งทางอวกาศแค่เพียง 11 ประเทศเท่านั้น
ถึงแม้ไทยเราจะไม่สร้างจรวดเอง เพราะเราสามารถส่งดาวเทียมที่ออกแบบและพัฒนาเองขึ้นสู่อวกาศโดยพึ่งพาประเทศอื่น ๆ ได้โดยไม่ต้องครอบครองอาวุธเองให้ประเทศอื่นตื่นตกใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะไม่สร้างความมั่นคงทางการทหารอื่น ๆ เช่น การพัฒนาดาวเทียมสอดแนม ซึ่งอาจสร้างความไม่สบายใจกับประเทศอื่นได้เช่นกัน
แต่การเปลี่ยนชื่อ ‘กองทัพอากาศ’ เป็น ‘กองทัพอากาศและอวกาศ’ เป็นการเสริมความมั่นใจว่ากองทัพที่มีสรรพกำลังและทรัพยากรที่เพียงพอ จะช่วยดำเนินการวิจัยทางอวกาศ เพื่อให้ประเทศไทยตามทันในยุคที่เทรนด์ของโลกกำลังไปที่อวกาศมากขึ้น และยังช่วยสร้างความมั่นคงของประเทศได้ ผ่านผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นแล้วหรือกำลังจะเกิดขึ้นจากฝีมือของกองทัพอากาศไทย อย่างไรก็ตาม ก็มีประเด็นที่น่าขบคิดก็คือ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นในไทยต่อการพัฒนาด้านอวกาศจะเป็นอย่างไรต่อไป
เลยอยากจะชวนทุกคนพูดคุยด้วยคำถามปิดท้ายที่ว่า “ทุกคนคิดเห็นอย่างไรบ้าง กับการเปลี่ยนกองทัพอากาศเป็นกองทัพอากาศและอวกาศ ?”