ชีวิตเรามักจะมีเรื่องตลกร้ายเข้ามาอยู่เสมอ เรื่องตลกร้ายบางครั้งก็อาจจะเปลี่ยนแปลงชีวิตเราไปตลอดกาล ซึ่งเรื่องตลกร้ายของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน แต่นี้คือเรื่องชายคนหนึ่งที่ชื่อ “พอล อเล็กซานเดอร์” หรือที่เรารู้จักกันในนาม “โปลิโอ พอล” เขาคือผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายจากโรคโปลิโอ ก่อนที่ในอีก 3 ปีต่อมา โจนัส เอ็ดเวิร์ด ซอล์ก นักวิจัยทางการแพทย์และนักไวรัสวิทยาชาวอเมริกันจะพัฒนาวัคซีนเชื้อตายโรคโปลิโอสำเร็จ ถ้าหากเขาไม่ติดเชื้อซักก่อนชายผู้นี้อาจจะไม่ต้องอยู่ในเครื่องที่รูปร่างคล้ายถังขนาดยักษ์ที่เปลี่ยนความกดอากาศเพื่อกระตุ้นการหายใจหรือที่เรารู้จักกันว่า “ปอดเหล็ก” ไปตลอดชีวิต
ช่วงต้นทศวรรษ 1950 มีการระบาดของโรคโปลิโอครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ เด็กหลายร้อยคนทั่วดัลลัส รัฐเท็กซัส รวมถึงพอล ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ที่นั่นเด็กๆ ได้รับการรักษาในแผนกปอดเหล็ก พอลก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 18 เดือนก่อนจะกลับบ้าน โดยเขาเป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงมา พ่อแม่ของเขาต้องเช่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบพกพาและรถบรรทุกเพื่อพาเขาและปอดเหล็กกลับบ้าน
ถึงแม้ร่างกายของพอลจะเป็นอัมพาต แต่เขาก็ยังไม่หยุดที่จะทำตามความฝัน เขาพยายามจดจำเนื้อหาในวิชาต่าง ๆ ระหว่างเรียนไฮสคูล จนสามารถเข้าเรียนในระดับปริญญาตรี และสำเร็จการศึกษา สาขานิติศาสตร์เมื่อปี ค.ศ. 1981 ก่อนจะทำงานเป็นทนายความในห้องพิจารณาคดีกว่า 30 ปี ซึ่งทำให้อัตชีวประวัติของเขาเป็นที่น่าสนใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลาย ๆ คนที่อาจท้อถอยกับชีวิตให้ลุกขึ้นสู้ จนสำนักพิมพ์ต้องตีพิมพ์หนังสืออัตชีวประวัติของเขาในชื่อ “Three Minutes for a Dog : My Life in an Iron Lung” นอกจากนี้ในปี 2022 พอลเปิดเผยกับ CNN ว่าเขาตัดสินใจจะทำหนังสือเล่มที่ 2 ซึ่งสาธิตกระบวนการเขียนโดยใช้ปากกาผูกติดกับแท่งพลาสติกและคาบไว้ในปาก เพื่อแตะแป้นพิมพ์คีย์บอร์ด
“ฉันมีความฝันที่ยิ่งใหญ่ ฉันไม่ยอมรับข้อจำกัดของร่างกาย ชีวิตของฉันช่างเหลือเชื่อ”
เว็บไซต์ Gofundme ซึ่งเป็นเว็บไซต์ร่วมระดมทุนเพื่อเรี่ยรายเงินบริจาคสำหรับดำรงชีวิตของลุงพอล อเล็กซานเดอร์ได้แจ้งข่าวในเว็บไซต์ว่าลุงได้เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2024 โดยในข้อความนั้นไม่ได้กล่าวถึงสาเหตุการเสียชีวิต อย่างไรก็ตามลุงพอลเคยติดเชื้อ Covid-19 และได้เข้ารับการรักษาจนหายดีและแพทย์ตรวจไม่พบเชื้อในร่างกาย ถึงยังงั้น 1 สัปดาห์หลังออกจากโรงพยาบาลเขาก็ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ
โปลิโอ โรคร้าย(ในอดีต)
โรคโปลิโอ คือโรคติดเชื้อไวรัสแบบเฉียบพลัน ซึ่งติดต่อจากคนสู่คน โดยจะพบมากในเด็กเล็ก เนื่องจากสุขอนามัยของเด็กเล็กยังไม่ดีทำให้เด็กอาจได้รับเชื้อโดยไม่รู้ตัว โดยเชื้อจะอาศัยอยู่ในลำไส้ของผู้ป่วยได้เป็นเดือน ๆ เพื่อเพิ่มจำนวน ระหว่างช่วงนี้อาจพบการปนเปื้อนของเชื้อในอุจจาระ โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับเชื้อมักไม่แสดงอาการ จนกระทั้งเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดและก่อพยาธิสภาพต่อระบบประสาทและไขสันหลัง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงและก่ออาการอักเสบบริเวณไขสันหลัง และจะเป็นอัมพาตตลอดชีวิต โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเป็นอัมพาตตั้งแต่คอหอยลงมาหรืออาจอัมพาตครึ่งซีก แพทย์สามารถแบ่งอาการของผู้ป่วยอัมพาตดังนี้
- กลุ่มที่มีอาการอัมพาตระยะที่ 1 มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงแบบเฉียบพลันหรือค่อยเป็นค่อยไป มีอาการเกร็งกล้ามเนื้อนำมาก่อนแล้วจึงเริ่มเป็นอัมพาตที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยรีเฟล็กซ์ (Reflex) หรือการตอบสนองของระบบประสาทอัตโนมัติจะค่อย ๆ ลดลงก่อนที่จะมีอาการอัมพาตโปลิโออย่างเต็มที่ภายใน 48 ชั่วโมง
- กลุ่มที่มีอาการอัมพาตระยะที่ 2 เป็นอัมพาตโปลิโอระดับรุนแรงเฉียบพลันที่เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเส้นประสาทสมองในส่วนที่เชื่อมกับก้านสมอง (Medulla oblongata) ที่ทำหน้าที่ควบคุมการหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิต การกิน การกลืน และการพูด ทำให้หายใจลำบาก กลืนลำบาก พูดลำบาก อาจทำให้ระบบทางเดินหายใจเป็นอัมพาตและเสียชีวิตในที่สุด
นอกจากอาการอัมพาตแล้วผู้ป่วยโปลิโอ 1% จะมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้การตอบสนองของกล้ามเนื้อลดลง และกล้ามเนื้ออ่อนแรง จากนั้นราว 1-2 สัปดาห์ อาการจึงหายเป็นปกติโดยไม่มีอาการอัมพาต ภาวะตาแพ้แสง(Photophobia)
โรคโปลิโอถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1840 โดย Jakob Heine ส่วนไวรัสถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1908 โดยนายแพทย์คาร์ล ลันท์ชไตเนอร์ แม้จำไม่มีบันทึกเกี่ยวกับโรคโปลิโอในช่วงก่อนศตวรรษที่ 19 แต่การระบาดของโปลิโอได้สร้างความเสียหายเป็นจำนวนมหาศาลแก่เด็กในช่วงศตวรรษที่ 20 โดยโรคนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ในยุคนั้น
ในปี ค.ศ. 1910 พบการระบาดของโปลิโออย่างรุนแรงในแถบเขตร้อน ทำให้เกิดการแข่งขันในการผลิตวัคซีนและยาในการรักษาโรค จนในช่วงคริสตศตวรรษที่ 1950 การผลิตวัคซีนโปลิโอก็สำเร็จลุล่วงส่งผล ทำให้การระบาดของโปลิโอทุเลาลงจนกระทั้งประชากรโลกส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงวัคซีน และกลายเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายดังเช่นอดีต
อย่างไรก็ตามการเข้าถึงวัคซีนของประชากรในกลุ่มประเทศในแถบเอเชียใต้และแอฟริกายังค่อนข้างต่ำ ทำให้ยังพบการระบาดของโรคโปลิโอในแถบข้างต้นอยู่ โดยเฉพาะอัฟกานิสถานและปากีสถานที่เป็นโรคประจำถิ่น อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 UNICEF ได้พยายามเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนในประเทศต่าง ๆ โดยโปลิโออยู่ในหนึ่งในสองโรคที่องค์กรกำลังพยายามกำจัดให้หายไปจากโลกเหมือนดังโรคฝีดาษ ที่ประจำได้สูญพันธุ์ไปเป็นทีเรียบร้อย
สีแดง – เป็นโรคประจำถิ่น
สีน้ำเงิน – ยังพบการระบาด
ที่มา : Tobus – Using MethodDraw, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=66715669
เมื่อปอดไม่สามารถทำงานได้
เครื่องมือทางการแพทย์ที่พอลใช้อยู่เป็นประจำจนเป็นภาพติดตาใครหลาย ๆ คนอย่างปอดเหล็กนั้น คืออุปกรณ์พยุงชีพเพียงอย่างเดียวของผู้ป่วยโปลิโอในสมัยนั้น โดยมันถูกคิดค้นโดย ฟิลลิป ดริงเกอร์ (Phillip Drinker) และ หลุยส์ อกาสสิซ ชอว์ (Louis Agassiz Shaw) แห่งโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด เป็น “เครื่องช่วยหายใจชนิดใช้แรงขับดันลบ” (Negative pressure ventilation) นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงกลางของศตวรรษที่ 19 เมื่อโรคโปลิโอระบาดในสหรัฐอเมริกา
ปอดเหล็ก เป็นเครื่องช่วยหายใจอันแรก ๆ ของโลก โดยมันทำงานโดยอาศัยแรงดันอากาศในกระบอกสูบ โดยอวัยวะตั้งแต่กล่องเสียงลงมาจะอยู่ภายในกระบอกสูบ เมื่อผู้ใช้หายใจเข้าความดันภายในกระบอกสูบจะลดลง ทำให้ช่วงอกและช่วงท้องของผู้ใช้ขยายตัว ทำให้ปอดขยายตัว ซีกโคร่งยกตัวสูงขึ้นได้ ขณะเดียวกันเมื่อหายใจออกความดันภายในกระบอกสูบจะเพิ่มขึ้น ทำให้ช่วงอกและช่วงท้องหดตัว ปอดหดตัวและซี่โคร่งเคลื่อนต่ำลง
การทำงานผ่านกลไกนี้ คือวิธีการเดียวกันกับการทำงานของกล้ามเนื้อกระบังลม ซึ่งในผู้ป่วยโปลิโอ กล้ามเนื้อต่าง ๆ อ่อนแรงและเป็นอัมพาต โดยหนึ่งในนั้นคือกล้ามเนื้อกระบังลมที่ใช้ในการหายใจ หากกล้ามเนื้อกระบังลมไม่สามารถทำงานได้ กระบวนการการหายใจผ่านปอดจะไม่เกิดขึ้นและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจในที่สุด
ที่มา : https://www.blockdit.com/posts/641187cf64fbda94f4c4e606
วัคซีนของซอล์ก
ปี ค.ศ. 1955 วัคซีนของโจนัส เอ็ดเวิร์ด ซอล์กได้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก โดยเป็นวัคซีนเชื้อตาย ก่อนที่ปี ค.ศ.1961 จะมีการผลิตวัคซีนอีกชนิดที่ให้ทางปาก ปัจจุบันวัคซีนโปลิโอทั้ง 2 ชนิดถูกขึ้นเป็นทะเบียนยาในระบบสุขภาพพื้นฐาน และประชากรทุกคนต้องสามารถเข้าถึงวัคซีนได้
การได้รับวัคซีนโปลิโอมีด้วยกัน 2 วิธี คือชนิดฉีดมีด้วยกัน 3 สายพันธุ์ทำมาจากเชื้อตาย ถูกคิดค้นครั้งแรกโดย โจนัส เอ็ดเวิร์ด ซอล์ก ปัจจุบันมีทั้งแบบเข็มแยกเฉพาะโรคโปลิโอและเข็มรวมที่ฉีดร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน และอีกชนิดคือแบบรับประทาน เป็นเชื้อที่อ่อนแรงถูกพัฒนาต่อมาจากวัคซีนแบบฉีดของโจนัส เอ็ดเวิร์ด ซอล์ก เนื่องจากการฉีดยาในเด็กเล็กเป็นเรื่องยาก จึงพัฒนาแบบรับประทานขึ้น
โดยเด็กจะได้รับวัคซีนในช่วงอายุ 2, 4, 6, 18 เดือนและ 4 ปี แต่ถ้าหากได้รับวัคซีนผ่านการกินจำเป็นต้องได้รับวัคซีนเฉพาะชนิดแบบฉีดเพิ่มอีก 1 เข็มเพื่อให้สามารถต่อต้านเชื้อโปลิโอได้ครบทุกสายพันธุ์
อาการข้างเคียง วัคซีนโรคโปลิโอเป็นวัคซีนเชื้อเป็นที่ถูกทำให้สิ้นฤทธิ์ จึงมีความปลอดภัยสูงมาก ผู้รับวัคซีนชนิดฉีดบางรายอาจมีอาการบวมแดงหรือเจ็บที่ตำแหน่งฉีดวัคซีน ส่วนวัคซีนชนิดกินพบว่าบางครั้งทำให้เกิดโรคโปลิโอจากวัคซีนจนมีอาการอ่อนแรง ซึ่งพบได้ 3 ครั้ง ต่อการให้วัคซีนหนึ่งล้านครั้ง โดยทั่วไปถือว่ามีความปลอดภัยเพียงพอสามารถให้กับหญิงตั้งครรภ์ได้ และให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีสุขภาพดีได้ด้วย
โปลิโอจากวัคซีน
โรคโปลิโอจากวัคซีน (vaccine-derived poliovirus, VDPV) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยมากของการใช้วัคซีนโปลิโอแบบกิน เกิดจากการที่เชื้อในวัคซีนเกิดการประกอบพันธุกรรมใหม่เป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบประสาทและทำให้มีอาการอ่อนแรงได้ โดยอาการของโปลิโอจากวัคซีนคล้ายคลึงกับอาการจากการได้รับเชื้อตามธรรมชาติทุกประการ โดยมีสาเหตุมาจากบริเวณนั้นพบการระบาดของเชื้อโปลิโอ และมีการเข้าถึงวัคซีนแบบรับประทานไม่ทั่วถึง ทำให้เชื้อสามารถประกอบร่างกลับมาอีกครั้งเมื่อได้รับวัคซีนแบบรับประทานที่เป็นเชื้อที่อ่อนแรง องค์การอนามัยโลกจึงตัดสินใจให้วัคซีนแบบรับประทานมีเพียง 2 ชนิดโดยตัดเชื้อชนิดที่ 2 ออกไปเนื่องจากเชื้อชนิดนี้สูญพันธุ์ไปเป็นทีเรียบร้อยแล้ว
สำหรับประเทศไทยพบการระบาดของโรคโปลิโอครั้งแรกในปี พ.ศ. 2495 โดยมีรายงานผู้ป่วยจำนวน 425 ราย จากนั้นพบผู้ป่วยมาอย่างต่อเนื่องจนสูงสุดในปี พ.ศ. 2522 ซึ่งพบผู้ป่วยจำนวน 1,083 ราย แต่หลังจากเริ่มให้วัคซีน ป้องกันโรคโปลิโอตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 นั้น จำนวนผู้ป่วยได้ลดลงมาเป็นลำดับ โดยพบผู้ป่วยโปลิโอจากเชื้อตามธรรมชาติ สายพันธุ์ที่ 1 เมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. 2540 เป็นรายสุดท้ายของประเทศ และพบผู้ป่วยโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์รายสุดท้ายในปี พ.ศ. 2546 และรักษาสถานะปลอดโรคโปลิโอมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ฉีดวัคซีนกันเถอะ
โปลิโอเป็นเคสหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าการได้รับวัคซีนอย่างทันท่วงที จะช่วยลดความรุนแรงของการระบาดของโรคได้เป็นอย่างมาก หากวัคซีนโปลิโอยังไม่สามารถเข้าถึงทุกคนได้เฉกเช่นปัจจุบันแล้ว โรคโปลิโอคงพรากความฝันและชีวิตของบุตรหลานท่านไปชนิดที่ไม่สามารถกู้มันกลับคืนมาได้ ดังนั้นเองเราจึงควรได้รับการฉีดวัคซีนอยู่เสมอ ไม่ใช่แค่โรคโปลิโอเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีโรคอื่น ๆ อีกด้วยเพื่อป้องกันการระบาดของโรคไม่ให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น
อ้างอิง
Paul JR (1971). A History of Poliomyelitis. Yale studies in the history of science and medicine. New Haven, Conn: Yale University Press. pp. 16–18. ISBN 0-300-01324-8.
https://journals.asm.org/doi/10.1128/jvi.78.24.13512-13521.2004
https://www.cdc.gov/polio/what-is-polio/index.htm
https://www.thaipbs.or.th/news/content/338026
https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1382820230208093802.pdf