การสูญเสียเลือด เป็นภาวะอันตรายอย่างหนึ่งของร่างกายจะนำมาสู่การเสียชีวิต ดังนั้นการได้รับบริจาคเลือดจึงเป็นทางรอดที่สำคัญของผู้ที่ต้องได้รับการบริจาคเลือด แต่ว่าการบริจาคเลือดเราจำเป็นต้องคำนึงถึงการเข้ากันของหมู่เลือดเพื่อป้องกันอันตรายอื่น ๆ ที่จะตามมา ดังนั้นเราทุกคนควรทราบหมู่เลือดของตัวเอง
ระบบหมู่เลือดของมนุษย์ อ้างอิงมาจากโปรตีนแอนติเจนที่เกาะอยู่บนผิวของเม็ดเลือดแดง ซึ่งแบ่งได้เป็นหมู่เลือดในระบบ ABO และระบบ Rh แต่ว่าแอนติเจนบนผิวของเม็ดเลือดไม่ได้จำกัดแค่ 2 ชนิดดังนั้นหมู่เลือดจึงอาจมีมากกว่า 2 แบบ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบหมู่เลือดระบบใหม่ คือ ‘ระบบ AnWj’
หมู่เลือดระบบใหม่นี้ เป็นระบบหมู่เลือดที่ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อ 50 ปีที่แล้ว แต่เนื่องจากนักวิจัยในขณะนั้นไม่สามารถถอดรหัสจีโนมที่ควบคุมการแสดงออกของแอนติเจนที่อยู่บนผิวเม็ดเลือดของระบบหมู่เลือดใหม่นี้ได้ จนกระทั้งนักวิจัยจาก NHS Blood and Transplant ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบริสตอลระบุรหัสจีโนมของแอนติเจน AnWj ได้สำเร็จ
ทีมวิจัยพบแอนติเจน AnWj เป็นโปรตีนที่พบบนผิวเม็ดเลือดคนกว่า 99% แต่สำหรับคนที่มีหมู่เลือด AnWj-negative นั้นจะไม่มีโปรตีนนี้บนผิวเม็ดเลือด โดยมีสาเหตุมาจากโรคทางโลหิตวิทยาหรือมะเร็งบางชนิดที่ยับยั้งการแสดงออกของแอนติเจนและผลกระทบทางพันธุกรรมซึ่งพบได้น้อยมาก ๆ ปัจจุบันมีผู้ที่เป็น AnWj-negative จากพันธุกรรมเพียง 5 คนเท่านั้น
Louise Tilley นักวิจัยอาวุโสในทีมวิจัยนี้กล่าวว่า นี่เป็นการค้นพบและความสำเร็จที่สำคัญในการระบุหมู่เลือดหายากใหม่นี้ได้สำเร็จ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่มีหมู่เลือด AnWj-negative สามารถระบุหมู่เลือดที่ถูกต้องและป้องกันการถ่ายเลือดผิดหมู่ที่จะนำมาสู่อันตรายอื่น ๆ ตามมา นอกจากนี้ทีมวิจัยได้พัฒนาชุดตรวจสอบหมู่เลือดหายากได้สำเร็จ
ทั้งนี้ความยากของงานวิจัยนี้ คือ แอนติเจน AnWj เป็นโปรตีนขนาดเล็กมาก ซึ่งทำให้ยากต่อการระบุชนิดโปรตีน จึงต้องทำงานวิจัยหลายทางเพื่อระบุและรวบรวมหลักฐานที่จำเป็นในการสร้างระบบหมู่เลือดนี้
อ้างอิง
Grigoriadis, George & Condon, Jennifer & Green, Kate & Anderson, Mary Ann & Borosak, Marija & Wood, Erica. (2011). Persistent complement-dependent anti-AnWj in a lymphoproliferative disorder: A case study and review. Immunohematology / American Red Cross. 27. 83-8. 10.21307/immunohematology-2019-179.