เมื่อ 4 ปีผ่านไป การแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกอย่าง “ฟุตบอลโลก” ก็จะกลับมาอีกครั้ง ทำให้หลายคนต้องหันมาจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นทีมที่เข้าแข่งขัน เทคนิคใหม่ ๆ ของนักเตะ รวมถึงลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขัน
สิ่งที่สำคัญสำหรับการแข่งขันในทุก ๆ ปีที่ขาดไม่ได้ หรือเรียกอีกอย่างว่า “Must Have” ขอยกให้เป็น “ลูกฟุตบอล” ซึ่งในปีนี้มีเทคโนโลยีใหม่ที่น่าสนใจติดมากับลูกบอลสำหรับ ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ในปีนี้ด้วย รวมถึงเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่สนับสนุนการแข่งขันในครั้งนี้ ซึ่งผ่านการทดลองมาอย่างละเอียดมากมายหลายรูปแบบ ทั้งในห้องทดลอง ในอุโมงค์ลม รวมถึงในสนามแข่งขันจริง ๆ และวันนี้เราจะแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักเทคโนโลยีสำหรับการแข่งขันกีฬาในครั้งนี้ให้มากขึ้น

ที่มา khelnow
ลูกฟุตบอลที่ เร็ว มั่นคง และแม่นยำที่สุด
ลูกฟุตบอลสำหรับปีนี้มีชื่อว่า อัล ริห์ลา (Al Rihla) ซึ่งมาจากภาษาอาหรับ แปลว่า การเดินทาง ซึ่งมีการออกเดินทางตามชื่อไปยัง 10 เมืองทั่วโลก โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาโอกาสในการเข้าถึงและความเท่าเทียมในวงการกีฬาให้เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่น โดย อัล ริห์ลา ถูกออกแบบโดยแบรนด์กีฬาชื่อดังอย่าง อาดิดาส (Adidas) และมีการใส่เทคโนโลยีที่ช่วยในการแข่งขันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงช่วยให้การตัดสินเป็นไปอย่างยุติธรรมมากขึ้นด้วย

ที่มา Adidas
เทคโนโลยีแรกที่ใส่ไปในลูกฟุตบอล คือวัสดุในการทำพื้นผิวของลูกฟุตบอล โดยลูกฟุตบอลประจำการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2022 นี้ ทำวัสดุพื้นผิวภายนอกที่เรียกว่า สปีดเชลล์ (Speedshell) ที่ทำจากวัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูงและทนทานต่อการฉีกขาดได้ดีมากอย่าง โพลียูรีเทน (Polyurethane) นอกจากนี้ยังประกอบลูกฟุตบอลด้วยแผ่นหนัง 20 ชิ้น แทนที่จะเป็นแผ่นเดียวอย่างที่นิยมในยุคหลัง ซึ่งมีการทดลองแล้วพบว่า พื้นผิวรูปแบบดังกล่าว ทำให้ลูกบอลมีการเคลื่อนที่ในอากาศอย่างมั่นคง และทิศทางการโค้งมีองศาที่ถูกต้องมากที่สุด
ที่สำคัญไม่แพ้กับพื้นผิวแบบใหม่ คือแกนกลางของลูกฟุตบอล ที่เรียกว่า CTR-Core เพราะมันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกฟุตบอลมีความมั่นคง ไม่เสียรูป รวมทั้งยังสามารถกักเก็บอากาศไว้ได้มากที่สุด และยาวนานที่สุด เพื่อให้เพียงพอกับการแข่งขันตลอด 90 นาที นอกจากนี้ แกนกลางที่สมบูรณ์ของลูกฟุตบอลยังถูกออกแบบมาให้ลูกฟุตบอลมีความเร็วสูง ควบคุมความเร็วได้ดี และมีความแม่นยำ เหมาะสำหรับการแข่งขันเป็นอย่างยิ่ง

ที่มา Adidas
และเทคโนโลยีอีกชิ้นที่ถูกพัฒนาขึ้นมา และใส่ไว้ในลูกฟุตบอล อัล ริห์ลา ก็คืออุปกรณ์บันทึกข้อมูลที่เรียกว่า Inertial Measurement Unite (IMU) ที่อาดิดาสพัฒนาขึ้นมาร่วมกับบริษัทผู้ให้บริการด้านระบบเซนเซอร์อย่าง คิเน็กซอน (Kinexon) ที่ถูกใส่ไว้ในแกนกลางของลูกฟุตบอล เพื่อช่วยในการตรวจจับแรงสั่นสะเทือนเมื่อลูกฟุตบอลถูกเตะหรือถูกสัมผัส โดยมันสามารถบันทึกข้อมูลได้ในระดับ 500 ครั้งต่อวินาที แต่จากการออกแบบและการทดสอบที่ผ่านมา ทำให้อุปกรณ์บันทึกข้อมูลที่อยู่ในแกนกลางลูกฟุตบอลนี้ จะไม่ส่งผลต่อความรู้สึกของนักเตะระหว่างแข่งขันอย่างแน่นอน
ภาพจำลองสามมิติ จากภาพจริงในสนาม
ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่านมา ในปี 2018 มีการใช้กล้องบันทึกข้อมูล และมีการส่งข้อมูลไปให้ผู้ช่วยตัดสิน เรียกระบบนี้ว่า VAR (Video Assisted Referees) ซึ่งมันมีหน้าที่เข้ามาช่วยในการตัดสินต่าง ๆ เช่น ตัดสินการล้ำหน้า โดยข้อจำกัดของมันคือยังจำเป็นจะต้องใช้ตามนุษย์มอง และยังต้องใช้เวลาในการตัดสินเฉลี่ยยาวนานถึง 70 วินาที ซึ่งทำให้นักเตะอาจจะรำคาญได้ เช่น ทำประตูได้แล้ว เพิ่งพบว่ามีการล้ำหน้าในอีก 70 วินาทีต่อมา
ปี 2022 นี้ มีการต่อยอดระบบ VAR ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า เทคโนโลยีช่วยตัดสินการล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัติ หรือ SAOT (Semi-Automated Offside Technology) ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในฟุตบอลโลกที่กาตาร์ในครั้งนี้ โดยมันถูกออกแบบมาให้ใช้งานร่วมกับกล้องที่ถูกติดตั้งไว้ใต้หลังคาสนามการแข่งขัน 12 ตัว รวมถึงข้อมูลที่บันทึกได้จากอุปกรณ์บันทึกข้อมูลที่แกนกลางของลูกฟุตบอล ซึ่งบันทึกข้อมูลได้ 500 ครั้งต่อวินาทีตามที่ได้กล่าวไป ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำมาเทียบกับตำแหน่งการยืนของนักกีฬา โดยมีจุดคำนวณของร่างกายถึง 29 จุด ทั้ง แขน ขา หัวเข่า ส้นเท้า ปลายเท้า ศีรษะ หรือแม้กระทั่งช่วงบั้นท้ายของนักกีฬา
จากข้อมูลบนร่างกายทั้ง 29 จุดที่ตรวจจับได้ จะถูกนำมาใช้ประมวลผลเป็นภาพสามมิติ และใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยตัดสินภายในเวลา 2-3 วินาที โดยมันจะเลือกจังหวะที่มีการล้ำหน้า และระบบจะสร้างภาพกับเส้นที่มีการล้ำหน้าขึ้นมาให้เห็น ทำให้การตัดสินการล้ำหน้ามีประสิทธิภาพและแม่นยำยิ่งขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยี SAOT นี้จะช่วยลดระยะเวลาในการตัดสินจาก 70 วินาที เหลือเพียงแค่ 25 วินาทีเท่านั้น
เทคโนโลยีดังกล่าว เคยถูกทดสอบใช้ในการแข่งขันจริงระดับนานาชาติมาแล้ว เช่น ฟีฟ่า อาหรับ คัพ รวมถึงศึกชิงแชมป์สโมสรโลก ซึ่งทุกการทดสอบพบว่าเทคโนโลยีนี้ใช้การได้ดี และประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง

ที่มา FIFA
ผู้ช่วยสำหรับคอบอล
นอกจากเทคโนโลยีที่ช่วยเหลือคนในสนามการแข่งขันแล้ว ผู้ที่ติดตามการแข่งขันฟุตบอลโลกก็มีเทคโนโลยีที่รออำนวยความสะดวกให้ด้วยเช่นกัน
เหมือนกับการค้นหาผลการแข่งขันกีฬาครั้งอื่น ๆ เพียงแค่พิมพ์สั้น ๆ ใน Google ด้วยคีย์เวิร์ดที่ถูกต้อง เช่น “บอลโลก” ผลการแข่งขันก็จะขึ้นมาให้ดูอย่างง่ายดาย และยังสามารถหาชมไฮไลต์การแข่งขันหลังจากจบไปแล้วได้อย่างง่ายดายเช่นกัน แต่ที่พิเศษมากไปกว่านั้นคือ เราสามารถกดรับการแจ้งเตือนสำหรับการแข่งขันแต่ละนัดได้ หรือถ้าหากต้องการติดตามทีมไหนโดยเฉพาะเป็นพิเศษ ก็สามารถกดแจ้งเตือนการแข่งขันสำหรับทีมนั้น ๆ ได้ และถ้าหากเบื่อกับการเข้า Google แล้วต้องพิมพ์บอลโลกทุกครั้ง ผู้ใช้โทรศัพท์ในระบบปฏิบัติการ Android สามารถปักหมุดผลคะแนนสด ๆ ไว้ที่หน้าจอโทรศัพท์ของคุณได้เลย

ที่มา Google
นอกจากนี้ Google ยังมีแผนที่จะเพิ่มป้ายกำกับสำหรับคีย์เวิร์ด “ดูบอลโลกใกล้ฉัน” เพื่อให้ร้านอาหารและเครื่องดื่มที่มีการถ่ายทอดสดการแข่งขัน ดึงดูดผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้น

ที่มา Google
ทิ้งท้าย
เมื่อเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ที่เห็นกันในปัจจุบัน และอนาคตมักจะมีการใช้งานเทคโนโลยีที่ช่วยให้งานต่าง ๆ สะดวกสบาย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องของกีฬาเท่านั้น เราอาจจะเห็นการพัฒนาของเทคโนโลยีต่าง ๆ ในวงการหนังสือ เช่น การซื้อขายหนังสือที่คล่องตัวมากขึ้น หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ก็หาง่ายขึ้น ในแง่ของการแพทย์ที่อุปกรณ์การแพทย์มีความทันสมัยมากขึ้น การรักษาในที่ยาก ๆ และการตรวจวินิจฉัยอาการต่าง ๆ เป็นไปอย่างละเอียดมากยิ่งขึ้น หรือในมุมมองของการคมนาคม เทคโนโลยียานพาหนะไร้คนขับก็กำลังจะช่วยลดอุบัติเหตุ และเพิ่มอัตราการขนส่งสินค้าต่าง ๆ ให้มีความรวดเร็วมากขึ้น
เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอนาคตที่กำลังจะถึง อาจมีอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจมากกว่านี้ ก็อย่าลืมติดตามอ่านข่าวสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ผ่านทาง The Principia นะครับ
อ้างอิง
Al Rihla : ลูกฟุตบอลประจำบอลโลก 2022 โดย adidas กับแนวคิดรักธรรมชาติที่มากกว่าใคร
อาดิดาส เปิดตัว ‘AL RIHLA’ ลูกบอลประจำฟุตบอลโลก 2022
รู้จักกับ โพลียูรีเทน (Polyurethane)
ทำความรู้จัก เทคโนโลยีใหม่ศึก ‘ฟุตบอลโลก 2022’ ระบบช่วยตัดสินกึ่งอัตโนมัติ SAOT
Innovative World : SAOT ผู้ช่วยตัดสินบอลโลก 2022
Google is launching cross-platform features to make it easier to follow the FIFA World Cup