ทุกคนรู้ แฟนคลับรู้ ใคร ๆ ก็รู้ ว่าตอนนี้มนุษย์สร้างขยะเยอะมากมายขนาดไหน และยังรู้ด้วยว่าขยะบางชนิดก็สามารถรีไซเคิลได้เพื่อช่วยลดปริมาณขยะที่ทำลายสิ่งแวดล้อมของโลก แต่ที่พวกเราไม่รู้ก็คือ ขยะที่ดูเหมือนรีไซเคิลได้เยอะกว่าขยะประเภทอื่น ๆ อย่างพลาสติก ถูกนำไปรีไซเคิลได้จริง ๆ เยอะแค่ไหน?
วันที่ 3 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันปลอดถุงพลาสติกสากล หรือ International Plastic Bag Free Day ซึ่งวันนี้ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรณรงค์ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการสร้างขยะพลาสติกของมนุษย์ โดยเฉพาะถุงพลาสติก เพราะข้อมูลจากสหประชาชาติหรือ UN ได้เผยว่าปริมาณขยะพลาสติกจากทั่วโลก ไหลลงสู่มหาสมุทร 11 ตันในแต่ละปี ทำให้เกิดปัญหาต่อสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลจนเสียสมดุลธรรมชาติ เรียกได้ว่าพลาสติกเป็นหนึ่งในตัวการร้ายที่ทำลายโลกของเรา แต่ถ้าพูดถึงขยะพลาสติกก็ยังมีพลาสติกบางชนิดที่สามารถนำมารีไซเคิลได้เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติก เช่น ขวด PET แต่จากพลาสติกทั้งหมดที่ถูกผลิตขึ้นมาทั่วโลก มีพลาสติกที่รีไซเคิลได้แค่ 9% เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก
นอกจากที่พลาสติกรีไซเคิลได้มีจำนวนน้อยกว่าพลาสติกชนิดอื่น ๆ หลายเท่าแล้ว การรีไซเคิลที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ว่าจะตัดวงจรขยะพลาสติกได้ทีเดียว ยกตัวอย่างขยะจากขวด PET ในยุโรป ถูกเก็บรวบรวมได้ประมาณ 60% ของขวด PET ทั้งหมด และสามารถนำไปรีไซเคิลเป็นขวดพลาสติกซ้ำอีกครั้งได้แค่ไม่ถึง 20% ของขวด PET ทั้งหมด เนื่องจากพลาสติกอาจเสียคุณภาพไประหว่างกระบวนการรีไซเคิล ส่วนขวด PET ที่เก็บมารีไซเคิลได้ส่วนที่เหลือ จะถูกนำไปผลิตเป็นเครื่องแต่งกาย และภาชนะบรรจุของกิน ซึ่งไม่สามารถนำไปรีไซเคิลซ้ำได้อีก
อย่างที่เห็นว่าการเก็บขยะพลาสติกรีไซเคิลได้ในยุโรปนั้นทำได้เพียง 60% เป็นเพราะการเก็บรวบรวมขยะพลาสติกให้ได้ทั้งหมดนั้นก็เป็นปัญหาที่แก้ยากเช่นกัน ซึ่งโชคดีของประเทศร่ำรวยหลายประเทศที่มีต้นทุนในการจัดการขยะที่ดี ทำให้พวกเขาสามารถเก็บขยะได้ในปริมาณมาก จนพวกเราไม่เห็นขยะสกปรกตามพื้นถนนในบ้านเมืองของประเทศเหล่านั้นเลย แต่ที่แย่คือพวกเขามีต้นทุนมากพอที่จะซุกซ่อนขยะที่เก็บมาได้ด้วย วิธีการคือส่งออกไปยังประเทศอื่นหลาย ๆ ประเทศ ทั้งประเทศไทย เวียดนาม ฮ่องกง ปากีสถาน อินเดีย ตุรเคีย และเม็กซิโก
การผลิตพลาสติกใหม่ยังคงเป็นกระบวนการที่มีต้นทุนถูกกว่าการผลิตพลาสติกจากขยะรีไซเคิล ภาคการผลิตในหลายอุตสาหกรรมจึงผลิตพลาสติกใหม่ ๆ มาโดยตลอด แนวโน้มหลังจากนี้อีกสิบปีพบว่าการผลิตพลาสติกยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ฉะนั้นวิธีแก้ปัญหาคงไม่ใช่สิ่งอื่นใด นอกจาก Reuse & Reduce ลดการใช้ ลดการผลิต คงจะต้องช่วยกันทั้งฝั่งผู้ผลิต และฝั่งผู้บริโภคอย่างเราทุกคน