ขยะพลาสติกเป็นสาเหตุที่สำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การปนเปื้อนไมโครพลาสติก, สัตว์ทะเลกินขยะ และขยะล้นโลก ดังนั้นนักวิจัยจึงพยายามหาวิธีเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว อาทิ พลาสติกจากวัสดุธรรมชาติ, จุลินทรีย์ช่วยย่อย, ลดการใช้งานพลาสติกที่ไม่จำเป็น ฯลฯ โดยงานวิจัยของทีมวิจัยจากศูนย์วิจัยสรีรวิทยา และสิ่งแวดล้อมนานาชาติเปิดเผยอีกวิธีในการกำจัดขยะพลาสติกด้วยการอาศัย ‘หนอนนกจากแอฟริกา‘ ที่พึ่งค้นพบใหม่ในการย่อยสลายขยะพวกนี้
พลาสติกที่เราใช้อยู่ส่วนใหญ่ถูกผลิตขึ้นจากโพลีสไตรีน ซึ่งเป็นสารประกอบโพลีเมอร์ ที่ได้จากกระบวนการปิโตรเคมี โดยพลาสติกดังกล่าวได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งบรรจุภัณฑ์อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างไรก็ตามการกำจัดพลาสติกพวกนี้จะสร้างมลพิษแก่โลก
ทีมวิจัยจึงได้ค้นพบหนอนนกที่เป็นตัวอ่อนของด้วงสกุลย่อยในสกุล Alphitobius โดยหนอนนกชนิดนี้มีความสามารถย่อยสลายโพลีสไตรีนที่ใช้ทำพลาสติกให้เป็นพลังงานได้
ความลับของหนอนนกแอฟริกาผู้ย่อยสลายพลาสติกก็คือ จุลินทรีย์ในลำไส้หนอนที่สามารถย่อยสลายพอลิเมอร์ที่ใช้ผลิตพลาสติกเป็นพลังงานได้
อย่างไรก็ตามหนอนพวกนี้สามารถย่อยสลายพลาสติกได้เพียง 11.7% ตลอดระยะเวลา 1 เดือนของการทดลอง ทั้งนี้หนอนพวกนี้ก็ยังจำเป็นต้องอาศัยอาหารที่มีสารอาหารสูงเพื่อดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ โดยนักวิจัยคาดว่าหนอนพวกนี้บริโภคพลาสติกในฐานะของแหล่งพลังงานสำรอง นอกจากอาหารที่กินเป็นประจำ
เมื่อนักวิจัยสนใจแบคทีเรียในลำไส้พบว่าในหนอนที่บริโภคพลาสติกเพียงอย่างเดียวจะมีแบคทีเรีย ที่สามารถปรับตัว และย่อยสลายสารที่มีความซับซ้อนสูงอย่างพลาสติก มากกว่าหนอนกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ได้บริโภคพลาสติกเพียงอย่างเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความสามารถข้างต้นนี้ไม่ได้เกิดมาจากตัวหนอน แต่มาแบคทีเรียย่อยพลาสติกในลำไส้ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นจนหนอนได้รับความสามารถนี่มา
การค้นพบนี้ นอกจากจะช่วยให้เราคิดวิธีย่อยสลายพลาสติกได้แล้ว ยังช่วยให้เราพบว่ามีแมลงอื่น ๆ ที่มีความสามารถแบบเดียวกันนี้ ซึ่งการศึกษาในอนาคต นักวิจัยจะมุ่งเน้นไปที่แบคทีเรียในลำไส้เพื่อระบุสายพันธุ์ และตรวจสอบเอ็มไซม์ที่ใช้ย่อย นอกจากนี้ทีมวิจัยยังสนใจในความสามารถย่อยพลาสติกนี้สามารถย่อยพอลิเมอร์ชนิดอื่น ๆ ได้หรือไม่
อ้างอิง
https://theconversation.com/plastic-eating-insect-discovered-in-kenya-242787