เกาะลิบงเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก อีกทั้งเกาะแห่งนี้ยังเป็นสรวงสวรรค์ของพะยูนไทย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแสนอ่อนโยน แต่ว่าภาพสรวงสวรรค์แห่งนี้กำลังกลายเป็นสุสานของเหล่าพะยูน เมื่อหญ้าทะเลแหล่งอาหารที่สำคัญของพะยูนไทยต่างล้มตายจากภาวะโลกเดือด
‘พะยูน’ หรือ ‘หมูน้ำ’ เป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และได้รับการคุ้มครองจากอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศว่าด้วยชนิดสัตว์ป่า และพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือ CITES โดยจากข้อมูลปัจจุบันระบุว่าไทยมีพะยูนเพียง 282 ตัวเท่านั้น ซึ่งประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางฝั่งทะเลอันดามัน และอาศํยหญ้าทะเลที่ขึ้นตามชายฝั่งเป็นแหล่งอาหารหลักเพียงอย่างเดียว
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รายงานสถานการณ์การเกยตื้นของพะยูนไทยว่าอยู่ใน ‘ขั้นวิกฤติ’ โดยใน 1 ปีพบพะยูนเกยตื้นไม่ต่ำกว่า 25 ตัว นอกจากนี้จากสถิติล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2567 พบพะยูนเกยตื้นถึง 9 ตัวในรอบ 1 เดือน โดยสาเหตุการตายส่วนใหญ่เกิดจากภาวะขาดอาหารเนื่องจากการล้มตายของหญ้าทะเล
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาศาสน์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ แสดงความวิตกกังวลถึงสถานการณ์ทะเลไทยในช่วงนี้ โดยเฉพาะพะยูนไทยที่กำลังอดอาหารตาย อีกทั้งวิกฤติการณ์ครั้งนี้ยังแพร่พระจายไปยังจังหวัดรอบข้าง เช่น จังหวัดกระบี่ ซึ่งทำให้วิฤติการณ์ในครั้งนี้ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น
อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์การสูญเสียครั้งนี้ ทำให้เกิดการระดมนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และนักรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์ทะเลเพื่อเข้าแก้ไขปัญหาด้วยความหวังว่า ‘พะยูนไทยจะรอดวิกฤติครั้งนี้ไปได้’ และทวงคืนสรวงสวรรค์ที่พะยูนสามารถว่ายน้ำอย่างอิสระท่ามกลางทุ่งหญ้าทะเลอันอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
อ้างอิง
https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2744581/seagrass-die-off-threatens-dugongs-survival