The last of us เป็นวีดีโอเกมส์ที่เชื่อว่าคอเกมเมอร์หลาย ๆ ท่านน่าจะคุ้นหูเป็นอย่างมากโดยเรื่องราวของ TLOU (ต่อไปนี้จะขอเรียกเป็นชื่อย่อนี้แทนชื่อเต็ม) เกิดขึ้นในโลกยุคปัจจุบันที่เกิดการระบาดของซอมบี้ที่ทำลายสังคมของมนุษย์จนเข้าสู่จุดสูญพันธุ์ของมนุษยชาติ โดย TLOU นี้ได้ถูกนำมาดัดแปลงทำเป็นซีรี่ย์ในชื่อเดียวกันในช่องทางสตรีมมิ่ง HBO GO ซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงในตอนนี้ ในเรื่องความสมเหตุสมผลซึ่งมีหลักพื้นฐานตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับ และมีเสียงตอบรับที่ดีเป็นอย่างมาก
เรื่องราวภายในซีรีย์
TLOU พูดถึงโลกที่มนุษยชาติเผชิญกับภาวะวิกฤตใกล้สูญพันธุ์เนื่องจากการระบาดของเชื้อรา Cordyceps ซึ่งได้วิวัฒนาการตัวเองเนื่องจากภาวะโลกร้อนทำให้โฮสต์ของเชื้อราจากแมลงมาสู่มนุษย์ได้ โดยเรื่องราวของซีรี่ย์เปิดมาด้วยรายการสัมภาษณ์เมื่อปี 1968 ได้เชิญนักระบาดวิทยา 2 ท่านโดยภายในรายการพิธีกรได้ถามถึงสิ่งที่พวกเค้ากลัวมากที่สุดเมื่อเกิดการระบาดของโรคระบาด แขกรับเชิญทั้ง 2 ต่างเห็นพ้องตรงกันว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือเชื้อรา เนื่องจากเชื้อราบางชนิดสามารถควบคุมสมองของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ได้ ซึ่งหนึ่งในเชื้อราที่ทางซีรี่ย์ยกตัวอย่างคือ Cordyceps ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการระบาดของซอมบี้ใน TLOU โดยระยะเวลาในการแสดงออกพยาธิสภาพของผู้ติดเชื้อ (infected) ขึ้นอยู่กับว่าตำแหน่งที่รับเชื้อราห่างจากสมองเท่าไหร่
Cordyceps Brain Infection
Cordyceps Brain Infection (CBI) คือกลุ่มอาการซึ่งเกิดจากการได้รับเชื้อรา Cordyceps เข้าสู่ร่างกายโดยนับตั้งแต่ได้รับเชื้อจนแสดงอาการพยาธิสภาพนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ได้รับเชื้อว่าอยู่ใกล้สมองมากแค่ไหน รวมทั้งจำนวนสปอร์ของเชื้อที่ได้รับก็มีผลต่อระยะเวลาการติดเชื้อ โดยผู้ติดเชื้อCBI ไม่ได้ตายในทันทีแต่จะตายอย่างช้า ๆ เนื่องจากการขยายตัวของเชื้อราซึ่งผู้ติดเชื้อจะมีด้วยกัน 4 ระยะหลัก ๆ ดังนี้
ระยะที่ 1 Runner คือระยะแรกเริ่มทันทีเชื้อเข้าสู่สมอง ลักษณะภายนอกจะเหมือนมนุษย์ทุกอย่างแต่จะมีดวงตาที่บวมแดง การมองเห็นจะค่อนข้างแย่ ร่างกายจะกระตุกไปมาด้วยความเจ็บปวดเนื่องจากเชื้อรากำลังกัดกินสมอง โดยผู้ติดเชื้อระยะนี้จะวิ่งเข้าหาเหยื่อในทันทีด้วยความเร็ว
ระยะที่ 2 Stalker คือระยะของผู้ติดเชื้อที่ติดเชื้อมาแล้ว 1 อาทิตย์- 1ปี โดยรูปร่างภายนอกไม่ต่างจากซากศพที่เดินได้ ผิวหนังซีด มีไมซีเรียมของเชื้อรางอกออกมาจากใบหน้าและบาดแผลต่าง ๆ ในระยะนี้ผู้ติดเชื้อมักจะมีพฤติกรรมที่หลบซ่อนรอเหยื่อเข้ามาใกล้ ๆ บ้างก็เข้าสู่สถานะกึ่งจำศีลปะปนกับกองเชื้อราตามผนังรอจนเหยื่อเข้ามาใกล้ ๆ ก็จะกระโจนออกมาจากผนัง อีกหนึ่งลักษณะของ Stalker คือการที่พวกมันสร้าง Echo localtion เทียมขึ้นมาเพื่อทดแทนดวงตาที่มืดบอดจากเชื้อราที่ปริออกมาจากดวงตา
ระยะที่ 3 Clicker คือระยะที่ 3 ซึ่งถือเป็นระยะที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยมากที่สุดเนื่องจากการติดเชื้อราเป็นเวลานานจนกระทั้งเชื้อราที่ปริออกมาจากบดบังทัศนวิสัยของผู้ติดเชื้อทั้งหมดทำให้พวกมันมีการพัฒนา Echo localtion ให้มีความแม่นยำขึ้นด้วยดอกเห็ดที่ปกคลุมใบหน้าคล้ายกับจานรับสัญญาณและหูของพวกมันที่ดีขึ้นทำให้พวกมันจัดเป็นระยะที่อันตรายมากที่สุดระยะหนึ่งของผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้ด้วยเชื้อราที่ปกคลุมใบหน้าทำให้แม้จะถูกยิงเข้าที่หัวก็จะไม่เป็นอะไรเนื่องจากเชื้อราที่ทำหน้าที่เป็นเกราะหนาป้องกันกระสุนได้ โดยเอกลักษณ์ของผู้ติดเชื้อระยะนี้คือการทำเสียงคลิกตลอดเวลาทำให้พวกมันสามารถระบุตำแหน่งของสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
ระยะที่ 4 Bloaters และ Shamblers เป็นระยะสุดท้ายของผู้ติดเชื้อโดยจะเกิดขึ้นเมื่อการติดเชื้อเกิดขึ้นมาหลาย ๆ ปีเสียจนเชื้อราเจริญเติบโตไปขัดขวางการเคลื่อนไหวทำให้ในระยะนี้พวกมันเคลื่อนไหวช้ามาก ๆ และเชื้อราที่ปกคลุมร่างกายทำให้พวกมันไม่ต่างจากรถถังหุ้มเกราะที่กระสุนธรรมดาทำอะไรพวกมันไม่ได้เลย โดยความแตกต่างของ Bloaters และ Shamblers นั้นอยู่ที่สภาพแวดล้อมที่พวกมันอาศัยอยู่ โดยหากสถานที่นั้นแห้งจะทำให้เชื้อราเจริญแบบปกติและกลายเป็น Bloaters และถ้าหากบริเวณนั้นมีความชื้นสูงจะทำให้เชื้อรามีความเบาะบางกว่าปกติและจะพัฒนาเป็น Shamblers
โดยความน่ากลัวของ Bloaters และ Shamblers อยู่ที่ความสามารถพิเศษของพวกมันที่ได้จากการติดเชื้อเป็นเวลานานโดย Bloaters จะสามารถดึงกระเปาะที่มีสาร Mycotoxin ออกจากร่างกายและปาใส่ศัตรูได้ ในขณะที่ Shamblers พวกมันมีร่างกายที่ไม่ต่างจากถุงหรือกระเปาะสปอร์เดินได้ทำให้ร่างกายของพวกมันสามารถระเบิดออกพร้อมปลดปล่อยสปอร์เชื้อราจำนวนมหาศาลทำให้ผู้รอดชีวิตติดเชื้อแทบจะในทันที
นอกจากระยะทั้ง 4 แล้วหากเกิดการติดเชื้อของผู้ติดเชื้อในสภาพแวดล้อมที่พิเศษมาก ๆ โดยเกิดจากการรวมตัวของผู้ติดเชื้อในพื้นที่ที่จำกัดเป็นเวลานานจนกระทั้งเหล่าผู้ติดเชื้อหลอมรวมเข้าเป็นก้อนเนื้อที่มีจิตสำนึกเดียวกันผ่านโครงข่ายของเชื้อราเราเรียกระยะที่ผู้ติดเชื้อหลอมรวมกันนี้ว่า Ratking โดยระยะนี้พวกมันถือเป็น Superorganism หรือสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตหลายสิ่งทำงานร่วมกันเป็นระบบ โดยการเกิด Ratking นั้นเกิดขึ้นได้ยากมาก ๆ เนื่องจากต้องใช้เวลาถึง 20 ปีเป็นอย่างต่ำ
ซอมบี้หัวเห็ด
Ophiocordyceps unilateralis หรือ zombie-ant fungus จัดเป็นปรสิตภายนอกของแมลงโดยถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 1859 ณ ป่าฝนเขตร้อนชื้นโดยอาศัยมดในกลุ่ม Camponotini genus เป็นโฮสต์หลักในการดำเนินวัฎจักรชีวิตของพวกมัน
ทันทีที่สปอร์ของ O. unilateralis ตกลงบนตัวโฮสต์ สปอร์จะหลั่งเอมไซม์ออกมาทำลายเปลือกแข็งชั้นนอกของโฮสต์เพื่อเข้าสู่ร่างกายของโฮสต์ หลังจากนั้น 2 วันพวกมันจะเข้าควบคุมระบบประสาทของมดที่เป็นโฮสต์ให้ลงจากต้นไม้และตามหาตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อรา จนกว่าเจอสถานที่ที่ต้องการมดจะยังไม่ตาย โดยเราสามารถเห็นอาการของมดที่ติดเชื้อจากลักษณะการเดินของมดที่มีการกระตุกตามร่างกาย (คล้ายกับ Runner) เมื่อมดเดินมาถึงสถานที่ที่เชื้อราต้องการ เชื้อราจะสั่งคำสั้งสุดท้ายคือให้เอาเขี้ยวของมดเกาะเข้ากับใบไม้หรือลำต้นเพื่อยึดเกาะร่างก่อนที่มดจะตายลงในที่สุด
ทันทีที่มดตาย เชื้อราจะกัดกินร่างกายของมดจากภายในก่อนจะค่อย ๆ ปกคลุมร่างกายของมดและชูฟรุตติ้งบอดี้(หัวเห็ด) ออกจากร่างของมดเพื่อปล่อยละอองสปอร์ออกสู่อากาศรอคอยให้มดหรือแมลงผู็โชคร้ายได้รับสปอร์เข้าสู่ร่างกายและเริ่มต้นวัฏจักรใหม่นี้อีกครั้ง
นอกจาก O. unilateralis แล้วเรายังพบเชื้อราอีกชนิดหนึ่งที่มีวงชีวิตคล้ายคลึงกันคือ O. sinensis หรือ “ถังเช่า” โดยโฮสต์ของถังเช่าคือหนอนผีเสื้อ โดยถังเช่านั้นแตกต่างจาก O. unilateralis ตรงที่พวกมันไม่สามารถเข้าควบคุมระบบประสาทของหนอนที่เป็นโฮสต์แต่เป็นการทำให้โฮสต์ตายแล้วจึงเจริญเติบโตบนซากศพของโฮสต์จากในดิน
โดยในปัจจุบันอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนส่งผลให้อุณหภูมิของบริเวณที่พวกมันอยู่สูงขึ้นจนไม่เหมาะแก่การเจริญของเชื้อราและหนอนซึ่งเป็นโฮสต์หลักไม่มีพฤติกรรมอพยพหรือย้ายถิ่นฐาน ทำให้ถังเช่าอาจเป็นเชื้อราที่ใกล้สูญพันธุ์และทำให้พวกมันมีราคาที่สูงขึ้น
เริ่มจากลอนดอน
มหานครลอนดอนในยุควิกตอเรียอันเป็นจุดสูงสุดของจักรวรรดิบริเตน เมืองอันศิวิไลซ์ที่มีแม่น้ำเทมส์ไหลผ่ากลางเมืองแห่งนี้คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวในวันนี้
ระบบประปาในยุคนั้นยังไม่มีการพัฒนาที่มากเพียงพอเป็นเพียงการสูบน้ำจากแม่น้ำเทมส์ขึ้นมาใช้สอยโดยไม่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อเหมือนดังเช่นปัจจุบัน โรงงานน้ำประปาหลายแห่งได้กระจายตัวตามแนวของแม่น้ำเทมส์ บ้างก็ตั้งอยู่ด้านเหนือของเมืองที่น้ำใสกว่า บ้างก็ตั้งโรงสูบน้ำด้านใต้ที่น้ำผ่านตัวเมืองซึ่งมีความขุ่นมัวจากสิ่งปฎิกูลต่าง ๆ รวมทั้งในตอนนั้นท่อประปาของเอกชนเป็นการวิ่งตามถนนหนทาง บ้านไหนใกล้จุดจ่ายน้ำบริษัทไหนก็ซื้อน้ำจากบริษัทนั้น
จนกระทั้งในช่วงฤดูร้อนในปี 1854 ประชาชนหลายร้อยคนในลอนดอนต่างมีอาการอุจจาระร่วงพร้อมกัน สร้างความหวั่นวิตกโรงพยาบาลต่างเต็มไปด้วยผู้ป่วย มหานครลอนดอนในตอนนั้นต้องซบเซาลงจากโรคประหลาด หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันเราคงจะทราบในทันทีว่าโรคที่กำลังระบาดในตอนนี้คืออหิวาห์ตกโรค แต่ทว่าในตอนนั้นเรายังไม่รู้จักเชื้อโรคหรือจุลชีพขนาดเล็ก อธิบดีวิลเลียม ฟาร ตั้งสมมุติฐานว่าสาเหตุของโรคประหลาดนี้เกิดจากอากาศที่เป็นมลพิษ แต่ทว่าในตอนนั้นจอห์น สโนว์ แพทย์ดมยาเริ่มทำการสอบสวนโรคในชุมชนด้วยการเคาะประตูบ้านแต่ละหลังแจงผู้ป่วยแต่ละหลังแล้วแสดงผ่านจุดบนแผนที่
จากแผนที่จะเห็นว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่บริเวณถนน Broad street โดยจะกระจายอยู่รอบ ๆ ปั้มน้ำ ทำให้นายแพทย์สโนว์สันนิษฐานว่าสาเหตุของโรคมาจากน้ำที่ไม่สะอาดจึงได้สั่งให้ถอดปั้มน้ำออกส่งผลให้ในเวลาต่อมาจากจำนวนผู้เสียชีวิตวันละ 50-120 คนต่อวันลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ทว่าในขณะนั้นยังไม่มีกล่องจุลทรรศน์ที่สามารถมองจุลชีพได้ บางคนจึงไม่เชื่อว่าโรคเกิดจากน้ำสกปรกยกเว้นบริษัท Lambeth ที่เชื่อว่าน้ำสกปรกเป็นสาเหตุการระบาดของโรคได้ย้ายโรงสูบน้ำไปทางเหนือเมืองซึ่งน้ำสะอาดและยังไม่ไหลผ่านเมืองส่วนบริษัทอื่น ๆ ที่ไม่เชื่อยังคงสูบน้ำจากด้านใต้ของเมืองจนกระทั้งเกิดการระบาดในปีถัดมานายแพทย์สโนว์พบว่าชาวบ้านที่ซื้อน้ำจากบริษัท Lambeth มีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำกว่าบริษัทอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด
นายแพทย์สโนว์ต่อมาได้กลายเป็นบิดาของระบาดวิทยาซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาการกระจายและปัจจัยหรือองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการกระจายตัวของภาวะสุขภาพในกลุ่มประชากรที่สนใจและนำมาประยุกต์ใช้ในการควบคุมการระบาด
เนื่องจากระบาดวิทยาเกิดเพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของภาวะสุขภาพดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำการเข้าใจหลักการเกิดของโรคหรือภาวะสุขภาพต่างอันประกอบไปด้วย 3 อย่างคือ
- เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค/ภัยสุขภาพ
- การกระจาย
- ธรรมชาติของโรค
เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค/ภัยสุขภาพ
เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค/ภัยสุขภาพในทางระบาดวิทยามีด้วยกัน 3 อย่างซึ่งเราเรียกว่า Epidemiologic Triad โดยภาวะสุขภาพจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการเสียสมดุลของปัจจัยต่าง ๆ เช่นการเพิ่มขึ้นของจำนวน Agent สภาพแวดล้อม อุณหภูมิ ความชื้นเหมาะสมต่อพาหะนำโรค หรือพฤติกรรมร่วมที่ส่งเสริมให้เกิดการระบาด
การกระจายของโรค/ภาวะสุขภาพ
แบบแผนการระบาดของโรค/ภาวะสุขภาพทางระบาดวิทยานั้นมีแบบแผนที่แน่นอนและมีปัจจัยร่วมด้วยกัน 3 อย่างคือเวลา สถานที่ บุคคล โดยการเข้าใจแบบแผนการระบาดจะช่วยให้สามารถวิเคราะห์และหาทางควบคุมการระบาดได้
ยกตัวอย่าง
โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อ Japanese Encephalitis ที่มีพาหะนำโรคคือยุงรำคาญมักระบาดในช่วงฤดูฝน เกิดในชนบทไม่เกิดในเมืองเนื่องจากยุงรำคาญรับเอาเชื้อจากสุกรมาสู่คน พบในเด็กเนื่องจากเด็กมักวิ่งเล่นทำให้ถูกยุงกัดได้บ่อย ไม่เลือกเพศ ศาสนาหรือเชื้อชาติ ต่อมาเกิดการระบาดของโรคที่มีอาการคล้ายกันที่มาเลเซียระหว่างเดือนตุลาคม – มีนาคม มีผู้ป่วย 208 คน ผู้เสียชีวิต 71 คน
ในระยะแรกสันนิษฐานว่าเกิดจากการระบาดของ Japanese Encephalitis จึงได้ฉีดยากันยุงและระดมฉีดวัคซีนป้องกันแต่ก็ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้
ต่อมาเมื่อศึกษาพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่เพศชาย เชื้อสายจีน ไม่พบผู้ป่วยกลุ่มคนมาเลย์ที่นับถืออิสลาม จึงได้มีการตรวจสอบอีกครั้งพบว่าโรคที่ระบาดไม่ใช่โรคไข้สมองอักเสบแต่เป็นโรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสชนิดใหม่และเรียกชื่อไวรัสตามชื่อของหมู่บ้านที่ค้นพบว่า Nipah โดยเชื้อไวรัสอาศํยอยู่ในเลือดและสารคัดหลั่งต่าง ๆ ของสุกรทำให้เกษตรกรคนเลี้ยงสุกรได้รับเชื้อโดยไม่รู้ตัว ซึ่งคนมาเลย์ที่นับถูกมุสลิมเกลียดสุกรทำให้เกษตรกรเชื้อสายจีนซึ่งทำอาชีพเลี้ยงสุกรกลายเป็นผู้ป่วยส่วนใหญ่ของการระบาด
ธรรมชาติของโรค
หมายถึงการดำเนินของโรค/ภาวะสุขภาพโดยไม่มีการแทรกแซงใด ๆ โดยอาจจะจบลงได้ 3 อย่างคือ ตาย พิการ หรือหายป่วย
ห่วงโซ่การติดเชื้อ
ห่วงโซ่การติดเชื้อคือวงจรการระบาดของเชื้อจากแหล่งรังโรคสู่ผู้รับเชื้อที่ไวต่อเชื้อโรคประกอบด้วย 5 องค์ประกอบคือ แหล่งรังโรค ทางออกของเชื้อจากแหล่งรังโรค วิธีการถ่ายทอด ทางเข้าของเชื้อและผู้รับเชื้อที่ไวต่อโรค องค์ประกอบทั้ง 5 นี้ช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจหลักการและกลไกการระบาดของโรค/ภาวะสุขภาพได้
แหล่งรังโรค
คือสถานที่เชื้อก่อโรค อาศัย เติบโตและเพิ่มจำนวนได้แก่ มนุษย์ (human reservoirs), สัตว์ (animal reservoirs) และ สิ่งแวดล้อม (environmental reservoirs)
**อนึ่งแหล่งรังโรคอาจเป็นที่ ๆ เชื้อเข้าสู่ร่างกายผู้รับเชื้อหรือไม่ก็ได้เช่น Clostridium botulinum ที่มีแหล่งรังโรคคือดิน แต่ทางเข้าสู่ผู้รับเชื้อคืออาหารบรรจุกระป๋องที่มีสปอร์
ทางออกของเชื้อจากรังโรค
ทางออกของเชื้อมักสัมพันธ์กับแหล่งรังโรคเช่น ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ที่ออกจากแหล่งรังโรคผ่านระบบทางเดินหายใจ Vribio chorela ออกทางอุจจาระ เป็นต้น
วิธีการถ่ายทอด
แบ่งเป็น 2 แบบคือการถ่ายทอดทางตรงและการถ่ายทอดทางอ้อม
การถ่ายทอดทางตรง (Direct tranmission)
- การสัมผัสกับแหล่งรังโรคโดยตรง
- การสัมผัสผ่านละอองที่เกิดจากการจาม ไอ หรือพูดคุย
การถ่ายทอดทางอ้อม (Indirect transmission)
- Air-borne แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ
- ละอองฝอยขนาดเล็ก ๆ กว่า 5 ไมครอน ซึ่งสามารถแขวนลอยในอากาศได้เป็นเวลานาน
- ฝุ่นที่เชื้อโรคเกาะปะปนอยู่
- Vehicle-borne เชื้อโรคถูกนำมากับสิ่งไม่มีชีวิต
- อาหาร,น้ำ
- วัตถุชีวภาพเช่น เลือด
- เครื่องมือเครื่องใช้
- Vector-borne เชื้อโรคติดต่อผานสิ่งมีชีวิตที่เป็นพาหะ โดยส่วนใหญ่เป็นแมลง
- Mechanical transmission เชื้อถูกนำมาโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงในวงจรชีวิตหรือเพิ่มจำนวนในตัว Vector
- Biological transmission เชื้อก่อโรคมีการเปลี่ยนแปลงในวงจรชีวิตพร้อมสำหรับการติดเชื้อในตัว Vector ในกรณีนี้ถือว่า Vector เป็นทั้งโฮสต์ตัวกลางและพาหะการแพร่กระจายเชื้อ
ทางเข้าเชื้อสู่ผู้รับเชื้อ
ทางเข้าของเชื้อก่อโรคเข้าสู่ร่างกายโฮสต์ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นทางเดียวกันกับที่เชื้อออกจากแหล่งรังโรค เช่นไข้หวัดใหญ่ แต่ในบางชนิดที่ทางเข้าสู่ร่างกายเป็นคนละทางกัน
ผู้รับเชื้อที่มีความไวต่อโรค
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับผู้รับเชื้อให้มีความไวต่อโรคได้แก่
- พันธุกรรม
- ภูมิคุ้มกันต่อโรค
- ปัจจัยทั่วไปอื่น ๆ
- ปัจจัยที่ลดความไวต่อโรค
- ผิวหนังที่ไม่มีบาดแผลให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย
- กรดในกระเพาะอาหาร
- แขนงขนพัดโบกในทางเดินหายใจ
- ภูมิคุ้มกันเฉพาะโรค : เมล็ดเลือดขาว
- ปัจจัยที่เพิ่มความไวต่อโรค
- การขาดสารอาหาร
- แอลกอฮอล์
- ยากดภูมิคุ้มกัน
- ปัจจัยที่ลดความไวต่อโรค
การตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่มีต่อเชื้อรา
เชื้อราส่วนใหญ่จัดเป็นเชื้อฉวยโอกาสชนิดหนึ่งซึ่งจะแสดงพยาธิสภาพเมื่อระบบภูมิคุ้มกันต่ำลงทั้งจากผลของโรคทางภูมิคุ้มกันต่าง ๆ และผลของยากดภูมิคุ้มกันต่าง ๆ โดยสปอร์ของเชื้อรานั้นจะลอยอยู่ในอากาศตลอดเวลาโดยบนผิวหนังของเราตามปกติจะมีจุลชีพอาศัยซึ่งจะหลั่งสารยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่อโรคและเชื้อรา (อาจเรียกว่าสงครามชิงพื้นที่ขนาดหย่อม ๆ ) แต่ทว่าในบางครั้งก็มีเหตุการณ์ที่เชื้อราเข้าสู่ร่างกายเราได้ดังนั้นเองร่างกายจึงมีการตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมจำพวกเชื้อราเพื่อสุขภาวะของร่างกาย
ทันทีที่ร่างกายตรวจพบสิ่งแปลกปลอมยามผู้ทำหน้าที่ลาดตระเวณ(innate immune system) อย่าง Dendritic cell และ Macrophage จะมีการตอบสนองโดยการเข้าไปจับกับเชื้อก่อโรคซึ่งจะมีชิ้นส่วนที่เรียกว่า Pathogen associated molecular pattern (PAMPs) ผ่านตัวรับที่มีชื่อว่า pattern recognition receptors (PRRs) โดยเชื้อรานั้น Dendritic cell จะเข้ากับจับกับผนังของเซลล์เชื้อราที่มี PAMPs ที่ชนิด C-type lectin receptor ที่กระตุ้นให้เซลล์ภูมิคุ้มกันเกิดการกลืนกินสิ่งแปลกปลอม (phagocytosis) ก่อนจะย่อยสลายสิ่งแปลกปลอม แต่ทว่าการตอบสนองเพียงแค่นี้ก็ไม่อาจหยุดยั้งเชื้อราได้เพียงอย่างเดียว เซลล์ภูมิคุ้มกันจะหลั่งสารที่ทำให้ T-cell และ B-cell ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันแบบ Adaptive immune system มารวมกันตรงจุดที่มีการติดเชื้อ ก่อนที่เซลล์ภูมิคุ้มกันที่กินสิ่งแปลกปลอมจะ Anitigen presenting cell เปลี่ยนให้ T-cell กลายเป็น CD4+ T-cell ซึ่งมีความจำเพาะต่อเชื้อโดยเหล่าทหารอาวุธหนักพวกนี้จะผลิต INFγ(Th1) และ IL-17 (Th17) ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพของ neutrophils และ macrophages ในการกินเซลล์แปลกปลอม
อ้างอิง
Immune responses to fungal pathogens | British Society for Immunology
ระบาดวิทยา กับการแก้ปัญหาสาธารณสุข (moph.go.th)
Principles of Epidemiology | Lesson 1 – Section 8 (cdc.gov)
Cordyceps zombie fungus takes over ants’ bodies (nationalgeographic.com)