ทุกคนคงคุ้นเคยกันดีกับ “ไฟแดง” “ไฟเหลือง” หรือว่า “ไฟเขียว” ที่มีอยู่แทบทุกแยกถนนบนเสาสัญญาณไปจราจร โดยสีต่าง ๆ เหล่านี้คอยจัดระเบียบการเดินรถของถนนแต่ละฝั่ง ช่วยรักษาความปลอดภัยบนท้องถนนมาจนถึงทุกวันนี้ แต่กว่าสัญญาณไฟจราจรที่เป็นสีเขียว เหลือง แดง จะถูกใช้งานจริงก็เพิ่งร้อยกว่าปีนี้เอง บทความนี้จะมาเล่าถึงประวัติของสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า “สัญญาณไฟจราจรระบบไฟฟ้า” ที่เพิ่งถูกจารึกไว้ว่ามีใช้ครั้งแรกในโลกเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 1914 ให้ทุกคนได้รู้จักกัน
เสาสัญญาณไฟจราจรถูกใช้งานครั้งแรกจริง ๆ ก่อนจะมีรถยนต์เสียอีก โดยมีการพัฒนาขึ้นมาในประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 1868 โดยนักประดิษฐ์ที่ชื่อว่า จอห์น พีค ไนท์ ด้วยเหตุผลว่า คนเดินเท้าบริเวณหน้าพระราชวังเวสมินสเตอร์ หรือรัฐสภาของประเทศอังกฤษ มักประสบอุบัติเหตุถูกรถม้าชนโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยมาก จึงมีการติดตั้งเสาสัญญาณไฟจราจรดังที่กล่าวไว้หน้ารัฐสภา
เสาสัญญาณไฟจราจรตัวแรกของประเทศอังกฤษนี้ ไม่ได้ทำงานด้วยระบบไฟฟ้า รวมถึงโดยปกติแล้ว มันไม่ได้ให้สัญญาณผู้คนบนท้องถนนด้วยไฟเป็นหลัก แต่จะใช้สัญญาณหางปลา (Semaphore Signal) ซึ่งเป็นเสาสูง และมีแขนยื่นออกมาจากเสาสัญญาณ หากแขนของสัญญาณทำมุมระนาบกับพื้น หมายความว่าให้หยุดการสัญจร แต่ถ้าแขนของสัญญาณทำมุมต่ำลง 45 องศา หมายความว่าให้สัญจรได้ด้วยความระมัดระวัง
ส่วน “ไฟ” ที่มาจากสัญญาณไฟจราจรตัวแรกในประเทศอังกฤษนั้น จะจุดด้วยแก๊สโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้มองเห็นได้ในเวลากลางคืน โดยใช้สีเขียวแทนความหมายว่าให้ไป และสีแดงแทนความหมายว่าให้หยุด เหมือนสัญญาณไฟจราจรในปัจจุบัน
แต่สุดท้าย เสาสัญญาณจราจรจากประเทศอังกฤษนี้ ถูกใช้งานได้เพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น ก่อนที่จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประสบอุบัติเหตุ ถูกไฟระเบิดใส่หน้า เนื่องจากแก๊สรั่ว จากที่เจ้าของผลงานอย่างไนท์ ต้องการพัฒนาสัญญาณจราจรเพื่อติดตั้งทั่วประเทศ ก็จำเป็นต้องพับความคิดนั้นเก็บกลับบ้านไป
ส่วนจุดกำเนิดของเสาสัญญาณไฟจราจรระบบไฟฟ้า แบบที่พวกเราน่าจะคุ้นเคยกันจริง ๆ คือเสาสัญญาณไฟจราจรที่ถูกออกแบบโดย เลสเตอร์ ฟาร์นสเวิร์ธ ไวร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำแหน่งหัวหน้าหน่วยจราจรจากเมืองซอลต์เลกซิตี รัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในปี 1912 ในฐานะที่เป็นหัวหน้าหน่วยจราจร เขาได้ออกระเบียบข้อบังคับมากมาย เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการจราจร รวมถึงอำนวยความสะดวกเพื่อนตำรวจจราจรด้วย
ในยุคนั้น ตำรวจคุมการจราจรจำเป็นจะต้องยืนบริเวณแยกถนนนานหลายชั่วโมง ในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดวัน เพื่อควบคุมการจราจรทุกเส้นทางอย่างยุติธรรมที่สุด เสาสัญญาณไฟจราจรที่ทำงานด้วยระบบไฟฟ้าของไวร์ จึงถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือตำรวจจราจรเหล่านี้
ลักษณะหน้าตาของเสาสัญญาณไฟจราจรของไวร์ เป็นกล่องไม้ มีหลังคายอดแหลม คล้ายบ้านนก โดยทั้งสี่ด้านของกล่องไม้นี้ มีไฟสัญญาณติดตั้งไว้ด้านละสองสี คือ สีแดง และสีเขียว ทำจากหลอดไฟชุบสี ทั้งหมดนี้ถูกติดตั้งอยู่บนเสาสูง 10 ฟุต โดยเชื่อมระบบไฟฟ้าจากสายไฟเหนือรถรางไปสู่ปุ่มกดที่ป้อมตำรวจบริเวณข้างถนน
ไวร์ควรได้จดสิทธิบัตรผลงานของเขา แต่กลับถูกเกณฑ์ไปทำหน้าที่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเสียก่อน ผลงานของเขาจึงไม่ได้การยอมรับอย่างเป็นทางการ
ส่วนผลงาน สัญญาณไฟจราจรระบบไฟฟ้า ที่ได้รับการยอมรับว่าถูกติดตั้งใช้งานจริงที่แรกของโลก รวมถึงมีสิทธิบัตรยืนยัน เป็นเสาสัญญาณไฟจราจรที่ถูกใช้งานบริเวณสี่แยกที่ตัดกันระหว่างถนน Euclid Avenue และ East 105th Street ในเมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา จากการออกแบบของ เจมส์ บุชร็อด ฮอจ ซึ่งยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตร “ระบบควบคุมการจราจรในเมือง” ในวันที่ 22 กันยายน 1913 (ถัดจากผลงานของไวร์ประมาณ 1 ปี) และได้รับการรับรองสิทธิบัตรในวันที่ 1 มกราคม 1918
เสาสัญญาณไฟจราจรของฮอจ มีแรงบันดาลใจมาจากผลงานของไวร์ ซึ่งมีลักษณะการใช้ไฟสัญญาณสองสี คือ สีเขียวกับสีแดง ไม่ต่างจากของไวร์ และยังจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกดปุ่มเพื่อเปลี่ยนสัญญาณ ยังไม่สามารถทำงานอย่างอัตโนมัติได้ แต่ถึงอย่างนั้น ผลงานของฮอจ ที่ถูกติดตั้งในวันที่ 5 สิงหาคม 1914 ก็นับเป็นสัญญาณไฟจราจรระบบไฟฟ้าแรกของโลกอย่างเป็นทางการ
อ้างอิง
Who Invented the Traffic Light?
Early Electric Traffic Signals in Cleveland
When was the first traffic light installed?
101st Anniversary of the First Electric Traffic Signal System