พื้นที่ส่วนไกลของดวงจันทร์ เป็นบริเวณที่น่าพิศวงจุดหนึ่งของดวงจันทร์ เนื่องจากดวงจันทร์โคจรรอบโลกเท่ากับที่ดวงจันทร์หมุนรอบตัวเอง ทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์แค่ฝั่งใกล้เท่านั้น จนกระทั่งยานลูน่า 3 ของสหภาพโซเวียตได้ถ่ายภาพส่วนไกลของดวงจันทร์มาเมื่อปี ค.ศ. 1959 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพื้นผิวของดวงจันทร์ด้านไกลที่เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตและภูเขามากมาย หลังจากนั้นการศึกษาด้านไกลก็คงเหลือเพียงการศึกษาผ่านดาวเทียมที่โคจรรอบดวงจันทร์เท่านั้น จนกระทั้ง ค.ศ. 2019 ยานฉางเออ 4 ของจีนได้ลงจอดลงบนด้านไกลของดวงจันทร์เป็นครั้งแรก และในเร็ว ๆ นี้ยานฉางเออ 6 ที่จะปล่อยในสุดสัปดาห์นี้ก็จะเป็นยานลำที่ 2 ที่จะลงจอดลงบนด้านไกลของดวงจันทร์
จุดที่ยานฉางเออ 6 ลงจอดก็คือแอ่งเอทเคน ที่บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นแอ่งภูเขาไฟที่ใหญ่และเก่าแก่แห่งหนึ่งของดวงจันทร์ โดยแอ่งเอทเคนนี้เต็มไปด้วยหลักฐานที่หลงเหลือจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยในอดีต รวมทั้งหินบะซอล์ตที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟ ซึ่งเราสามารถนำมาเปรียบเทียบกับหินบะซอล์ตที่บริเวณด้านใกล้ของดวงจันทร์ได้ เราก็จะทราบได้ถึงพฤติกรรมของภูเขาไฟในอดีตของดวงจันทร์ รวมทั้งการเก็บข้อมูลอื่น ๆ เพื่อตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับระบบสุริยะในอดีต และประวัติศาสตร์ของดวงจันทร์
ยานฉางเออ 6 ถูกออกแบบให้เหมือนกับเป็นฝาแฝดของฉางเออ 5 ซึ่งได้ทำภารกิจเก็บหินที่ฝั่งใกล้ของดวงจันทร์สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นยานฉางเออ 6 ต้องอาศัยจุดลงจอดที่ราบเรียบที่สุด เพื่อทำให้การลงจอดมีความต่อเนื่องและสมบูรณ์แบบ ทั้งนี้ความท้าทายอีกอย่างของฉางเออ 6 คือตัวยานไม่สามารถติดต่อกับโลกได้โดยตรงต้องอาศัยดาวเทียมฉิงเฉียวในการรับ-ส่งสัญญาณไปยังโลกตลอดภารกิจ
ภารกิจนี้ไม่ได้เกิดจากความร่วมมือของประเทศจีนเพียงประเทศเดียว ในภารกิจนี้ตัวยานฉางเออ 6 ยังบรรทุกเพลย์โหลดทางวิทยาศาสตร์ของฝรั่งเศส สวีเดน อิตาลี และปากีสถานไปด้วย โดยข้อมูลที่ได้จากเพลย์โหลดต่าง ๆ จะถูกนำส่งกลับมายังโลกภายใน 48 ชั่วโมงนับตั้งแต่เริ่มปฎิบัติการ นอกจากนี้ตัวอย่างหินจากฉางเออ 6 เมื่อสำเร็จภารกิจจะมีการแบ่งปันหินกับประเทศที่ร่วมภารกิจแบบเดียวกับฉางเออ 5 อีกด้วย
Comments 1