Hilight
- คาดว่าในอนาคต ปริมาณการเก็บข้อมูลดิจิทัลจะมีมากถึง 175 เซตตะไบต์ ภายในปี ค.ศ. 2025 ซึ่งทรัพยากรที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอ
- ดีเอ็นเอ เป็นสารชีวโมเลกุลที่เก็บรวบรวมข้อมูลชีวภาพไว้ได้มากมาย นักวิจัยจึงประยุกต์ใช้ความสามารถนี้ของดีเอ็นเอในการเก็บข้อมูลดิจิทัล
- ข้อดีของการเก็บข้อมูลดิจิทัลในดีเอ็นเอคือ สามารถเก็บข้อมูลได้เยอะ และใช้พื้นที่ในการจัดเก็บน้อยมาก แต่ข้อจำกัดของการเก็บข้อมูลดิจิทัลในดีเอ็นเอคือ มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก
ร่างกายของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งแบคทีเรียตัวเล็กจิ๋ว ต้นไม้น้อยใหญ่ สรรพสัตว์ทั้งหลาย แม้กระทั่งมนุษย์ มีข้อมูลทางชีวภาพมากมายหลายอย่างที่ถูกเก็บสะสมเอาไว้ในรูปแบบของสารพันธุกรรมขนาดจิ๋วที่เรียกว่า “ดีเอ็นเอ” ซึ่งเราอาจมองมันไม่เห็นด้วยตาเปล่า เพราะด้วยขนาดที่เล็กมาก แต่ถึงจะเล็กแค่ไหน มันกลับเก็บข้อมูลทางชีวภาพได้มหาศาล ทำให้พวกเราทุกคน และสิ่งมีชีวิตทุกตัว มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง โดยดีเอ็นเอเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับสิ่งมีชีวิต แต่เรามักไม่ค่อยได้ยินถึงการใช้ประโยชน์ของดีเอ็นเอในสิ่งที่ไม่มีชีวิตอย่าง คอมพิวเตอร์ และโลกอินเทอร์เน็ต
ในทุกวันนี้ ผู้คนทั่วโลกที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ต่างนำข้อมูลเข้าสู่ระบบจำนวนมาก ทั้งรูปภาพ วิดีโอ เพลง อีเมล ข้อความ หรือสเตตัสบนสื่อโซเชียลต่าง ๆ นั้นรวมกันแล้วมีปริมาณข้อมูลเข้าสู่ระบบถึงวันละ 2.5 ล้านกิกะไบต์ และดูเหมือนมันจะยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยบริษัทซีเกต เทคโนโลยี บริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลรายใหญ่ของโลกประเมินไว้ว่า ในปี ค.ศ. 2025 ข้อมูลทั้งหมดในโลกรวมกัน อาจมีได้มากถึง 175 เซตตะไบต์ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า 175 ล้านล้านกิกะไบต์ ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลถึงทรัพยากรในการจัดเก็บข้อมูลที่จะต้องเพิ่มมากขึ้น การพัฒนาเทคโนโลยีที่จะรองรับปัญหานี้จึงดูเหมือนเป็นเรื่องจำเป็น แต่ว่าคุณเริ่มเข้าใจกันหรือยังว่า สารพันธุกรรมอย่างดีเอ็นเอ จะนำมาใช้ประโยชน์กับแวดวงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร… ใช่ครับ แทนที่จะใช้มันเก็บข้อมูลชีวภาพ เรากำลังจะใช้ดีเอ็นเอเก็บข้อมูลดิจิทัลด้วย
โครงสร้างสารพันธุกรรม
หน่วยพันธุกรรมที่ทำหน้าที่บรรจุ ควบคุม และถ่ายทอดข้อมูลลักษณะทางพันธุกรรมมากมายมหาศาลของสิ่งมีชีวิต หน่วยใหญ่ที่สุดเรียกว่า “โครโมโซม” พบได้ภายในนิวเคลียสของเซลล์สิ่งมีชีวิต ซึ่งมนุษย์เรามีโครโมโซมอยู่ด้วยกันทั้งหมด 46 แท่ง แบ่งเป็นโครโมโซมร่างกาย 22 คู่ และโครโมโซมเพศ 1 คู่ โดยในแต่ละโครโมโซมเกิดจากการขดตัวกันแน่นของเส้นใยที่เรียกว่า “โครมาติน” ซึ่งโครมาตินนี้มีส่วนประกอบเป็น “ดีเอ็นเอ” ที่มีสายยาวขดตัวกันแน่น และหน่วยที่เล็กกว่าดีเอ็นเอนั้น มีชื่อเรียกว่า “นิวคลีโอไทด์” เป็นหน่วยพันธุกรรมเล็กที่สุด เกิดจากการประกอบกันของโครงสร้างเคมีสามอย่าง ได้แก่ น้ำตาล ฟอสเฟต และเบส โดยความแตกต่างของแต่ละนิวคลีโอไทด์ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของดีเอ็นเอนี้ ขึ้นอยู่กับเบสที่แตกต่างกัน 4 ชนิด คือ เบสอะดีนีน (Adenine, A), เบสไทมีน (Thymine, T), เบสไซโตซีน (Cytosine, C) และเบสกวานีน (Guanine, G) โดยดีเอ็นเอมีลักษณะเป็นเส้นสาย 2 สายจับคู่กันและบิดเป็นเกลียว เรียกว่า โครงสร้างเกลียวคู่ (Double helix) ให้คิดภาพตามเป็นบันไดวน ที่มีราวบันไดแทนเส้นสายตลอดความยาวของดีเอ็นเอ และมีขั้นบันไดแทนพันธะที่เชื่อมระหว่างดีเอ็นเอทั้งสองสายเข้าด้วยกัน พันธะที่เชื่อมระหว่างดีเอ็นเอนั้น เกิดจากการจับคู่กันของเบส A T C และ G โดยเบส A ของสายหนึ่ง จะจับคู่กับเบส T ของอีกสายหนึ่ง ส่วนเบส C ของสายหนึ่ง ก็จะจับคู่กับเบส G ของอีกสายหนึ่ง เรียกการจับคู่นี้ว่า เบสคู่สม
เมื่อเห็นภาพคร่าว ๆ ของโครงสร้างดีเอ็นเอ จะเห็นว่าบนสายของดีเอ็นเอนั้น มีเบสที่เรียงต่อกันมากมาย สลับกันไปด้วยรหัสเพียงสี่ตัว คือ A T C และ G คล้ายกับรหัสของคอมพิวเตอร์ที่ประกอบไปด้วยรหัสเพียงสองตัวคือ 0 กับ 1 เราจึงสามารถใช้ความใกล้เคียงนี้ ในการหาวิธีใช้ประโยชน์จากรหัสเบสบนดีเอ็นเอ ให้กลายเป็นรหัสดิจิทัลในรูปเลขฐานสอง เพื่อใช้งานในระบบคอมพิวเตอร์ได้ โดยที่การจัดเก็บข้อมูลดิจิทัลในดีเอ็นเอ ช่วยลดการใช้พื้นที่เก็บข้อมูลได้อย่างมหาศาล
แปลง “รหัสเบส” ให้เป็น “รหัสดิจิทัล”
วิธีการเปลี่ยนแปลงรหัสเบส จาก A T C และ G ให้กลายเป็นรหัสเลขฐานสอง ได้แก่ 0 และ 1 ง่ายนิดเดียว ยกตัวอย่างวิธีการง่าย ๆ เราอาจจะตั้งค่าให้เลข 1 แทนค่าด้วยคู่เบส A กับ T และตั้งค่าตัวเลข 0 แทนค่าด้วยคู่เบส C กับ G จากนั้นเราสามารถตั้งค่าการอ่านรหัสด้วยคอมพิวเตอร์ รวมถึงการออกแบบรหัสเบสบนดีเอ็นเอ และสังเคราะห์มันขึ้นมาได้ตามที่ต้องการ ด้วยเทคโนโลยีที่สามารถทำได้แล้วทั่วไปในปัจจุบัน ซึ่งโดยหลักการมันเป็นวิธีการผลิตที่ง่ายมาก แต่ให้ผลลัพธ์การจัดเก็บข้อมูลที่ทรงพลังมาก ข้อมูลที่นักวิจัยจากฮาวาร์ดได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่าง Science กล่าวว่า ตามทฤษฎีแล้วค่าความจุสูงสุดที่สามารถใส่ข้อมูลลงในดีเอ็นเอได้ อยู่ที่ 455 เอกซะไบต์ (4.55 แสนล้านกิกะไบต์) ต่อดีเอ็นเอเพียงหนึ่งกรัม นั่นเท่ากับว่า ดีเอ็นเอหนึ่งกรัมมีความจุมากกว่าภาพยนตร์และซีรี่ส์ทุกเรื่องในเน็ตฟลิกซ์รวมกันถึง 5,055 เท่า
พูดถึงภาพยนตร์ ในปี ค.ศ. 2017 มีตัวอย่างนักชีววิทยาอย่าง ดร.เซธ ชิปแมน ที่ตั้งใจจะเก็บไฟล์ภาพยนตร์ไว้ในดีเอ็นเอจริง ๆ โดยพวกเขาเลือกภาพยนตร์สั้น ที่มีเพียงแค่ห้าเฟรมชื่อว่า “แอนนี่ จี ควบม้า” (Annie G. galloping) จากปี 1887 ซึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหวชุดแรก ๆ ในประวัติศาสตร์โลก นำใช้ในการทดลองครั้งนี้ โดยทีมนักวิจัยเลือกที่จะใส่ไฟล์ภาพยนตร์นี้ลงในหน่วยพันธุกรรมของแบคทีเรีย Escherichia coli. หรือ E. coli ด้วยวิธีการออกแบบลำดับดีเอ็นเอด้วยเทคนิค คริสเปอร์-แคสไนน์ (CRISPR-Cas9) และใส่ดีเอ็นเอที่ทำการออกแบบลงในเซลล์แบคทีเรีย โดยหนึ่งเฟรมใช้ดีเอ็นเอถึง 104 ชิ้นส่วน เพื่อระบุตำแหน่งและเฉดสีในแต่ละพิกเซล ซึ่งต้องใช้เวลาในการใส่ดีเอ็นเอลงในแบคทีเรียด้วยอัตราหนึ่งเฟรมต่อหนึ่งวัน รวมเวลาทั้งหมดห้าวัน แล้วทำการตรวจสอบดีเอ็นเอของแบคทีเรียที่ทำการทดลอง เพื่อเรียกคืนไฟล์ภาพยนตร์ที่ใส่ลงไป พบว่าไฟล์ที่ได้กลับมามีความสมบูรณ์เกือบคล้ายกับต้นฉบับ โดยมีตำแหน่งที่ผิดพลาดเล็กน้อย ซึ่งคาดว่ามาจากไวรัสที่อยู่ภายในตัวแบคทีเรีย โดยรวมแล้วผลการทดลองก็ออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ
เหตุผลที่นักวิจัยในปัจจุบัน เลือกวิธีแก้ปัญหาปริมาณการจัดเก็บข้อมูลดิจิทัล ด้วยการใช้ดีเอ็นเอ เนื่องจากข้อดีหลายอย่างที่ดีเอ็นเอมีมากกว่าอุปกรณ์ในปัจจุบัน เช่น ดีเอ็นเอเป็นโครงสร้างทางเคมีที่มีความเสถียรอย่างมาก ในขณะที่เทปแม่เหล็ก ซึ่งเป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูลดิจิทัลที่ใช้กันในปัจจุบัน มีอายุการใช้งานสูงสุดที่ 30 ปี แต่ดีเอ็นเอที่พบจากฟอสซิลอายุ 700,000 ปี ยังสามารถนำมาตรวจสอบลำดับดีเอ็นเอได้อยู่ นอกจากนี้ดีเอ็นเอยังสามารถเก็บรักษาได้ในขนาดที่เล็กมาก ด้วยความสามารถในการขดตัวแน่นเหมือนที่พบได้ในสิ่งมีชีวิต รวมถึงดีเอ็นเอยังมีเทคโนโลยีการสังเคราะห์และตรวจสอบลำดับเบสที่พร้อมรองรับในปัจจุบัน แต่มีข้อจำกัดอยู่ที่กระบวนการดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยในปัจจุบัน การเขียนข้อมูล 1 ล้านกิกะไบต์ ในรูปแบบของลำดับเบสบนดีเอ็นเอ มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 33 ล้านล้านบาท การที่จะใช้งานดีเอ็นเอเพื่อเก็บข้อมูลดิจิทัลได้จริง จำเป็นต้องมีการพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีด้านการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ เพื่อลดต้นทุนในจุดนี้ให้ได้เสียก่อน
ข้อจำกัดอีกข้อสำหรับการจัดเก็บข้อมูลดิจิทัลด้วยรหัสเบสบนดีเอ็นเอคือ การคัดเลือกไฟล์ที่ต้องการออกจากดีเอ็นเอส่วนอื่น ๆ ยังไ่ม่ต่างกับการงมเข็มในมหาสมุทร ลองคิดภาพว่าเราเก็บไฟล์จำนวนมาก ทั้งรูปภาพ วิดีโอ เพลง หรือไฟล์อื่น ๆ ในดีเอ็นเอหลายแสนล้านกิกะไบต์ แต่เราต้องการเปิดหารูปที่มีขนาดเพียงแค่ 4 เมกะไบต์ หรือประมาณ 0.004 กิกะไบต์เท่านั้น ซึ่งวิธีการที่เราจะดึงข้อมูลที่ต้องการจากดีเอ็นเอต้นแบบ ต้องใช้กระบวนการที่เรียกว่า “พีซีอาร์” (Polymerase Chain Reaction, PCR) เพิ่มจำนวนดีเอ็นเอส่วนที่ต้องการ โดยใช้ RNA เส้นเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ไพรเมอร์” ซึ่งมีรหัสเบสเข้าคู่กับตำแหน่งที่ต้องการ จับสายดีเอ็นเอต้นแบบเพื่อกำหนดจุดเริ่มต้น และจุดจบ ของการสังเคราะห์ดีเอ็นเอสายใหม่ขึ้นมา และใช้เอนไซม์ในการเร่งปฏิกิริยาการสังเคราะห์ ในเครื่องมือที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้เป็นชั่วโมง เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการสังเคราะห์เเพิ่มจำนวนดีเอ็นเอแล้ว เราก็ต้องสกัดดีเอ็นเอที่เหลือที่ไม่ต้องการทิ้งไป (ใช่ครับ ข้อมูลหลายแสนล้านกิกะไบต์นั่นเอง) และนำดีเอ็นเอส่วนที่เราตามหามาอ่านข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ จะเห็นว่ากระบวนการดังกล่าว ทำให้เราต้องสูญเสียทรัพยากรจำนวนมาก ทั้งเสียข้อมูลดีเอ็นเอปริมาณมหาศาล เสียค่าไฟการใช้เครื่องมือ เสียไพรเมอร์ เสียเอนไซม์ และยังเสียเวลาอย่างมากในการดึงไฟล์ข้อมูลออกมาใช้เพียงแค่ไม่กี่ไฟล์ เรียกได้ว่า นี่จึงเป็นจุดอ่อนของการเก็บสะสมข้อมูลในดีเอ็นเอในปัจจุบัน
งานวิจัย แก้ไขข้อจำกัด
ผลงานวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology, MIT) แก้ปัญหาเรื่องความยากของการค้นหาข้อมูลภายในดีเอ็นเอที่เก็บข้อมูลมหาศาล ด้วยการทดลองนำอนุภาคซิลิกาขนาดเล็กมาใช้บรรจุแต่ละไฟล์ที่ถูกเก็บไว้ในดีเอ็นเอ เพื่อแบ่งหมวดหมู่ของชุดข้อมูลไว้ในคนละอนุภาค แล้วหลังจากนั้นสังเคราะห์ดีเอ็นเอสายสั้นที่ทำหน้าที่เป็นเหมือน “บาร์โค้ด” แปะไว้ที่ด้านนอกอนุภาคซิลิกาอีกที ซึ่งวิธีการอ่านบาร์โค้ดก็คือ ใช้ไพรเมอร์ที่มีสามารถจับคู่กับดีเอ็นเอบาร์โค้ดได้พอดีในการระบุตำแหน่งที่จัดเก็บข้อมูล โดยที่ไพรเมอร์เหล่านี้ต้องติดฉลากฟลูออเรสเซนต์หรืออนุภาคแม่เหล็กเอาไว้ เพื่อให้เราเห็นและระบุอนุภาคซิลิกาที่เก็บข้อมูลที่เราต้องการได้โดยง่าย แล้วนำออกมาได้โดยไม่ต้องสูญเสียดีเอ็นเอที่เก็บไฟล์ข้อมูลอื่น ๆ อยู่เลย ยกตัวอย่างให้เห็นภาพการทดลองนี้แบบง่าย ๆ หากเรามีไฟล์ภาพประมาณ 20 รูป แต่ละรูปถูกเก็บไว้ในเม็ดกลม ๆ ที่เรียกว่าอนุภาคซิลิกา โดยที่ด้านนอกของอนุภาคซิลิกานั้นมีบาร์โค้ดแปะอยู่ เมื่อสแกนบาร์โค้ดจะทำให้เรารู้ถึงสิ่งที่อยู่ข้างในอนุภาคซิลิกาว่าคืออะไร ซึ่งดีเอ็นเอที่ทำหน้าที่เป็นบาร์โค้ดด้านนอก อาจจะถูกอ่านเป็นรหัสได้ว่า “แมว” “ส้ม” “ป่า” เพื่อสื่อถึงภาพเสือ หรือถูกอ่านได้เป็นรหัสว่า “อเมริกา” “ประธานาธิบดี” “แรก” เพื่อสื่อถึงภาพของจอร์จ วอชิงตัน หลักการคล้ายกับการค้นหาข้อมูลในกูเกิล แต่งานวิจัยนี้ยังเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นในการทดลองวิธีการแก้ปัญหา เรื่องการค้นหาไฟล์ภายในดีเอ็นเอ แต่ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากปัญหาค่าใช้จ่ายได้ การทดลองในครั้งนี้จึงเป็นเพียงงานวิจัยในระดับเล็กเท่านั้น
นอกจากนี้ นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์อีกทีมหนึ่ง คิดวิธีการแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนที่สูงมากของการจัดเก็บข้อมูลในดีเอ็นเอให้มีราคาต่ำลง โดยนักวิจัยได้ไอเดียมาจากการใช้คอมพิวเตอร์ในยุคเริ่มต้น ที่จะอัปโหลดข้อมูลเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ด้วย “บัตรเจาะรู” เทคโนโลยียุคแรกของคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ถูกใช้ในการอัปโหลดข้อมูลเลขฐานสอง ที่ประกอบไปด้วยเลข 0 กับเลข 1 จากการอ่านค่าบนกระดาษว่ามีรูหรือไม่มีรู การประยุกต์ใช้กับดีเอ็นเอจึงใช้การสร้าง “นิกส์” (nicks) นั่นคือรูบนสายดีเอ็นเอ โดยที่ไม่จำเป็นต้องออกแบบ หรือสังเคราะห์ดีเอ็นเอเพิ่มเติมแบบวิธีเก่าเลย วิธีการใหม่นี้เริ่มต้นจาก ใช้เอนไซม์ทำลายพันธะที่เชื่อมระหว่างนิวคลีโอไทด์โมเลกุลหนึ่งกับนิวคลีโอไทด์อีกโมเลกุลหนึ่งบนดีเอ็นเอสายเดียวกัน เพื่อทำให้ “ราวบันได” ของบันไดเกลียวที่ชื่อดีเอ็นเอนี้แหว่งเป็นรูไป โดยให้คอมพิวเตอร์อ่านค่าตำแหน่งที่เป็นรูแทนด้วยเลข 1 และตำแหน่งที่ไม่มีรูแทนด้วยเลข 0 วิธีการสร้างนิกส์บนดีเอ็นเอแบบนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการออกแบบและสังเคราะห์รหัสเบสบนดีเอ็นเอเป็นอย่างมาก ทำให้การเก็บและการอ่านข้อมูลใช้ทรัพยาการที่น้อยลง แต่ข้อจำกัดของวิธีการใหม่นี้ก็คือ ปริมาณข้อมูลที่เก็บได้นั้นยังน้อยกว่าวิธีการเก็บข้อมูลบนรหัสเบสอย่างมาก และรูที่อยู่บนดีเอ็นเอยังทำให้เก็บรักษาดีเอ็นในขนาดที่เล็กได้ไม่เท่ากับวิธีการดั้งเดิม กลายเป็นปัญหาใหม่ที่นักวิจัยยังคงมองหาวิธีแก้กันอยู่
หลังจากที่อ่านมาทั้งบทความ คุณคงคิดว่าไม่มีอะไรเก็บข้อมูลได้ดีกว่าดีเอ็นเออีกแล้วในตอนนี้ แต่ก็ยังมีนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่ง แก้ปัญหาค่าใช้จ่ายในการเก็บข้อมูลในดีเอ็นเอ ด้วยการไม่ใช้ดีเอ็นเอ เพราะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) ใช้สารเมตาบอไลต์ซึ่งเป็นสารเคมีที่ได้จากกระบวนการเมตาบอลิซึม ในการเก็บข้อมูลดิจิทัลแทน ซึ่งปริมาณการเก็บข้อมูลอาจเก็บได้ไม่มากมายเท่ากับดีเอ็นเอ แต่ขนาดในการจัดเก็บเมตาบอไลต์นั้นเล็กกว่าดีเอ็นเอ และมีความเสถียรกว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปในปัจจุบันด้วย การจัดเก็บข้อมูลดิจิทัลปริมาณไม่มากในสารโมเลกุล สารเมตาบอไลต์ก็เป็นทางเลือกที่ดี
อนาคตงานวิจัยในสารชีวโมเลกุล
ไม่ว่าจะเป็นสารพันธุกรรมอย่างดีเอ็นเอ หรือสารเคมีที่ได้จากกระบวนการเผาผลาญในร่างกายอย่างเมตาบอไลต์ต่าง ๆ ในปัจจุบันถูกวิจัยไปในแง่ของการแพทย์เป็นส่วนใหญ่ แต่ที่จริงแล้ว ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงกันได้หมด โมเลกุลเล็ก ๆ ในร่างกายสิ่งมีชีวิตก็สามารถเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่างคอมพิวเตอร์ได้ และในอนาคตอาจมีการเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ด้านอื่น ๆ ได้อีกในอนาคต ซึ่งจะเป็นด้านไหนคงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยเลย
อ้างอิง
Could all your digital photos be stored as DNA?
DNA Data Storage: The Storage Medium of the Future
Next-Generation Digital Information Storage in DNA
Biologists unveil unusual film format: CRISPR
Random access DNA memory using Boolean search in an archival file storage system
CRISPR–Cas encoding of a digital movie into the genomes of a population of living bacteria
“Punch Card” DNA Could Mean Cheaper High-Capacity Data Storage
Molecular thumb drives: Researchers store digital images in metabolite molecules