นับตั้งแต่กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์เริ่มปฎิบัติหน้าที่ เราก็ได้เห็นดวงดาวที่ห่างไกลมากมายและในวันนี้เองนาซ่าได้ประกาศว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ได้ถ่ายภาพดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Exoplanet) สำเร็จเป็นครั้งแรก
ปกติแล้วการถ่ายภาพดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะโดยตรงนั้นนับว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะส่วนมากการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเรามักใช้วิธี transit method ที่รอจังหวะให้ดาวเคราะห์เคลื่อนที่ผ่านดาวฤกษ์ ทำให้เกิดการบดบังแสงของดาวฤกษ์ เราจึงสามารถสังเกตการเปลี่ยนแปลงของแสงที่เกิดขึ้นได้ แต่ในครั้งนี้นับเป็นภาพถ่ายแรกที่เราสามารถจับภาพดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้โดยตรงโดยอาศัยกล้องกล้องโทรทรรศน์ที่ทรงพลังที่สุดอย่าง กล้องเจมส์ เว็บบ์
โดยเป็นภาพของดาวเคราะห์แก๊สขนาดยักษ์ HIP 65426 b ซึ่งมีมวลมากกว่าดาวพฤหัสบดี 6-12 เท่า และยังเป็นดาวที่มีอายุน้อยเพียง 15-20 ล้านปีเท่านั้น เทียบกับโลกของเราที่อยู่มากว่า 4.5 พันล้านปีแล้ว โดยดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ห่างจากโลกออกไปถึง 385 ล้านปีแสง โดยดาวเคราะห์ HIP 65426 b อยู่ห่างจากดาวฤกษ์ในระบบของตัวเองค่อนข้างมากทำให้อุปกรณ์ Coronagraph ของ Webb’s Near-Infrared Camera (NIRCam) และ Mid-Infrared Instrument (MIRI) สามารถจำกัดแสงรบกวนของดาวฤกษ์ได้ส่งผลให้เจมส์ เว็บบ์ สามารถเก็บภาพดวงดาวได้โดยตรง
ซึ่งดาวเคราะห์ HIP 65426 b นี้เคยถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 2017 โดยกล้องโทรทรรศน์เวรีลาร์จเทเลสโคป (Very Large Telescope) ของหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป (ESO) ซึ่งอยู่ในประเทศชิลี โดยช่วงขณะนั้นกล้องโทรทรรศน์สามารถบันทึกภาพของดาวเคราะห์ดวงนี้ได้ในอินฟราเรดช่วงคลื่นสั้น แต่ทว่าภาพจากเจมส์ เว็บบ์นี้สามารถถ่ายออกมาในช่วงความยาวคลื่นที่มากกว่าทำให้แสดงรายละเอียดของดวงดาวได้ชัดกว่าภาพของ HIP 65426 b ในอดีต
อ้างอิง
NASA’s Webb Takes Its First-Ever Direct Image of Distant World – James Webb Space Telescope