สินค้าอุปโภคบริโภคที่เราซื้อขายกันอยู่ทั่วโลกนั้น กว่าร้อยละ 80 ขนส่งผ่านทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็น ทีวี หรือมือถือที่เรากำลังใช้อ่านข่าวอยู่นี้ ล้วนต้องพึ่งพาการขนส่งโดยเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่มีอยู่กว่า 1 แสนลำทั่วโลก ซึ่งเส้นทางเดินเรือมักตัดผ่านกับแหล่งสัญจรของสัตว์น้ำ ทำให้เกิดอุบัติเหตุเรือชนปะทะกับสัตว์น้ำอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะกับเจ้ายักษ์ใหญ่ที่แหวกว่ายในท้องทะเลอย่างช้า ๆ เช่น วาฬ และฉลามวาฬ ซึ่งซากวาฬมักลอยขึ้นมาให้นักวิจัยทางทะเลได้ศึกษา แต่ทว่าซากฉลามวาฬมักจมลงสู่ใต้ทะเล ทำให้เป็นการยากที่จะยืนยันสาเหตุการเสียชีวิตของฉลามวาฬได้
ล่าสุดทีมนักวิจัยทางทะเลจาก 48 สถาบันทั่วโลกได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาเกี่ยวกับฉลามวาฬ ลงในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS) ว่าตั้งแต่ค.ศ. 2005 ทีมได้เริ่มติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตัวบนครีบของฉลามวาฬ 350 ตัวที่อยู่อาศัยในทะเลทั่วโลก แล้วศึกษาชีวิตและเส้นทางสัญจรของฉลามวาฬผ่านทางดาวเทียม ซึ่งผลการศึกษาเผยว่าเส้นทางสัญจรในระดับผิวน้ำของฉลามวาฬและเรือขนส่งสินค้านั้นซ้อนทับกันกว่าร้อยละ 90 โดย เดวิด ซิมส์ (David Sims) หัวหน้าทีมนักวิจัยเผยว่า “อุปกรณ์ติดตามฉลามวาฬได้บันทึกให้พวกเราเห็นถึงตำแหน่ง ความลึก และเส้นทางการใช้ชีวิตของพวกมัน โดยสัญญาณติดตามฉลามวาฬมักหายไปเวลามันปะทะเข้ากับสัญญาณบ่งบอกตำแหน่งของเรือบรรทุกสินค้า หลังจากนั้นสัญญาณติดตามฉลามวาฬก็จมดิ่งลงสู่ใต้ทะเลอย่างรวดเร็วเป็นระยะกว่าหลายร้อยเมตรแล้วหายไป ซึ่งนี่เป็นหลักฐานสำคัญว่าเรือได้คร่าชีวิตของฉลามวาฬไปเป็นจำนวนมาก”
ฉลามวาฬ (whale shark) นั้นจัดเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ลำตัวมีความยาวได้ถึง 18 เมตร มันเป็นฉลามที่กินแพลงก์ตอนและสาหร่ายทะเลเป็นอาหาร ฉลามวาฬจัดว่าเป็นสัตว์ยักษ์ใหญ่ที่ใจดีกับมนุษย์ พวกมันเคลื่อนที่ช้าเพียงประมาณ 4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ฉลามวาฬเสี่ยงต่อการถูกชนปะทะกับเรือ โดยเฉพาะเรือขนส่งสินค้าที่มีขนาดยาวถึง 300 เมตร และสามารถแล่นด้วยความเร็วกว่า 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยงานวิจัยยังได้เผยว่า เมื่อเรือลดความเร็วลง สถิติอุบัติเหตุการชนปะทะกับฉลามวาฬก็ลดน้อยลงไปด้วย ซึ่งทีมนักวิจัยได้แนะนำว่าเรือบรรทุกสินค้าที่แล่นด้วยความเร็วต่ำกว่า 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะปลอดภัยกับฉลามวาฬมากที่สุด
อ้างอิง
Vox | What’s Killing the world’s biggest fish? The ocean has a roadkill problem.