การกระทำของมนุษย์หลาย ๆ ครั้งได้นำพามาสู่การสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตมากมาย ทั้งการรุกล้ำพื้นที่, การล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย ดังนั้นเองหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมจึงมักออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้เกิดการอนุรักษ์ ซึ่งก็มีอยู่บางครั้งที่การอนุรักษ์นั้นจะขัดกับผลประโยชน์และวิถีชีวิต รวมทั้งผลสัมฤทธิ์ก็ดูจะไม่ได้ดีขึ้น เห็นได้จากการประกาศการสูญพันธุ์ที่ปรากฎเป็นข่าวในแทบทุกปี
จากงานวิจัยฉบับล่าสุดที่ได้ทำการศึกษาผลสัมฤทธิ์ของการอนุรักษ์ทั่วโลก เผยว่าผลตอบรับของโครงการและนโยบายเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์สิ่งมีชีวิตนั้นเป็นไปได้ด้วยดี เมื่อเรามองแบบภาพรวม โดยทีมผู้ทำวิจัยเผยว่า ผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญของโครงการหรือนโยบาย คือการหยุดยั้งและยับยั้งการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพไม่ใช่การมองเพียงแค่ว่าประชากรของสิ่งมีชีวิตเพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือไม่ แต่เป็นการมองภาพรวมของระบบนิเวศน์ผ่านความหลากหลาย
ปัจจุบันรัฐบาลและหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เริ่มให้ความสนใจในการอนุรักษ์โดยมองเรื่องความหลากหลายที่มากขึ้น และลดการแทรกแซงจากมนุษย์ให้น้อยที่สุดเพื่อให้ระบบนิเวศน์สามารถฟื้นตัวได้ด้วยตัวเอง เช่น
- การจัดการผู้ล่าในบริเวณสันดอนของรัฐฟลอริด้า ส่งผลให้เต่าหัวค้อนและนกนางนวลสามารถสร้างรังได้โดยไม่ถูกรบกวนจากผู้ล่า ทำให้ประชากรของเต่าหัวค้อนและนกนางนวลมีเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับบริเวณนอกเขตอนุรักษ์
- การออกนโยบายสัมปทานตัดไม้ ภายใต้แผนการจัดการพื้นที่ป่า (FMP) ในแถบแม่น้ำคองโก ซึ่งลดการรุกล้ำพื้นที่ป่าเพื่อตัดไม้อย่างผิดกฎหมายได้ถึง 77% เมื่อเทียบกับบริเวณอื่น ๆ
- การผสมเทียมปลาแซลม่อนเพื่อเพิ่มประชากรและส่งคืนกลับสู่ธรรมชาติ ทำให้จำนวนประชากรและขนาดของปลาแซลม่อนเพิ่มขึ้น ซึ่งการผสมเทียมนี้ทำให้เราได้ปลาแซลม่อนโตเต็มวัยที่มีขนาดใหญ่และพร้อมสำหรับการเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ได้มากกว่าปลาแซลม่อนที่เกิดเองตามธรรมชาติ
นอกจากนี้จากการศึกษา พบว่าในบางกรณี กิจกรรมการอนุรักษ์ที่ทำขึ้นโดยหน่วยงานหรือองค์กรซึ่งขาดความรู้ความเข้าใจ มักได้ผลสัมฤทธิ์ไม่ได้ตามเป้าหมาย แต่ก็ยังถือว่าดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย เช่น การพยายามกำจัดสาหร่ายด้วยวิธีการทางกายภาพในอินเดีย ถึงแม้จะสามารถกำจัดบริเวณที่ต้องการไปได้ แต่ก็เป็นการยิ่งทำให้สาหร่ายระบาดในพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากทำให้สาหร่ายแตกกระจายเป็นชิ้นเล็ก ๆ ซึ่งง่ายต่อการพัดพาและระบาดไปยังพื้นที่อื่น ๆ หรือในบางกรณีที่การอนุรักษ์ความหลากหลายกลับส่งผลต่อประชากรของสิ่งมีชีวิตบางกลุ่มให้ลดลง เช่น ประชากรม้าน้ำบริเวณพื้นที่คุ้มครองจะลดลงเนื่องจากการอนุรักษ์ส่งผลให้ประชากรของผู้ล่ามีมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วประชากรจะเข้าสู่ภาวะสมดุลด้วยกลไกทางธรรมชาติอยู่ดี
ทีมวิจัยยังกล่าวอีกว่าในปัจจุบันการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตกลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อรัฐบาลมากขึ้น ซึ่งสะท้อนผ่านเงินทุนและนโยบายของรัฐที่ให้ความสนใจในการอนุรักษ์ นอกจากนี้ในแง่มุมด้านเศรษฐกิจแล้วครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลกขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพทั้งสิ้น โดยมีการประเมินว่าการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมทั้งโลกจำเป็นต้องใช้เงินถึง170,000 ล้าน – 520,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6.3 ล้านล้าน – 20 ล้านล้านบาท) โดยเน้นไปที่กลุ่มประเทศที่ความหลากหลายทางชีวภาพสูง ซึ่งปัจจุบันเราลงทุนด้านการอนุรักษ์ทั่วโลกเพียง120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(4.4 ล้านล้านบาท) เท่านั้น