สามเหลี่ยมปะการัง หรือ Coral triangle เป็นพื้นที่สามเหลี่ยมแถบอินโด-แปซิฟิกที่กินอาณาเขตกว่า 5.7 ล้านตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลของฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปาปัวนิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน และติมอร์-เลสเต ในพื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยแนวปะการังที่เชื่อมติดกันอย่างน้อย 500 ชนิด หรือ ‘สามในสี่ของปะการังทั้งหมดบนโลก‘ และเป็นสถานที่วางไข่ของสัตว์ทะเลหลายสายพันธุ์ที่มีคุณค่าของโลก เช่น ปลาแนวปะการัง และทูน่า แค่เพียงแถบฟิลิปปินส์เองก็มีปลาในแนวปะการังมากถึง 1800 ชนิด ดังนั่นพื้นที่สามเหลี่ยมปะการังจึงเป็นพื้นที่ของความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญของโลกจนถูกขนานนามว่า
“ป่าอะเมซอนแห่งท้องทะเล”
ยังเป็น 1 ใน 8 แนวปะการังที่สำคัญของโลก ในปี 2014 Asian Development Bank (ADB) ประเมินผลิตภัณฑ์มวลรวมของสามเหลี่ยมปะการังไว้ที่ ‘1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี‘
ศูนย์กลางความหลากหลายทางทะเล
สามเหลี่ยมปะการังเป็นศูนย์รวมความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่สำคัญ โดยสายพันธุ์ปะการังกว่า 75% อาศัยถูกพบที่นี่ และปลากว่า 600 ชนิดใช้ที่นี่เป็นแหล่งอนุบาล, ที่หลบภัยจากนักล่า โดยหนึ่งในนั่นมีฉลามวาฬที่ใช้สามเหลี่ยมปะการังหาอาหาร ผสมพันธุ์ และอพยพในน่านน้ำ นอกจากนี้สามเหลี่ยมปะการังยังเป็นบ้านของเต่าทะเลที่สำคัญ ที่พวกมันใช้ดำรงชีวิตและวางไข่อีกด้วย
ความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ของสามเหลี่ยมปะการัง เป็นแหล่งอาหารที่หล่อเลี้ยงประชากรกว่า 120 ล้านคนที่ความหลากหลายวัฒนธรรมและมีภาษาพูดที่แตกต่างกันกว่า 2000 ภาษาตลอดแนวชายฝั่ง
ภัยคุกคามแนวปะการังจากฝีมือมนุษย์
พื้นที่แห่งความหลากหลายทางชีวภาพนี้ กำลังถูกคุกคามจากการกระทำของมนุษย์ จากบทความของเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ได้บรรยายถึงผลกระทบอันน่าเศร้าของสามเหลี่ยมปะการังที่ ผู้เขียนที่ได้ดำน้ำลงไปได้พบเห็นมาไว้ดังนี้
“ปะการังรอบตัวผม มันล้มระเนระนาดเหมือนต้นไม้หลังพายุเฮอร์ริเคน ท่ามกลางตอปะการังที่ไร้ชีวิต อะไรบางอย่างสะท้อนวาบในแสงอาทิตย์ แล้วผมก็ส่วนก้นของขวดแก้วแตกขึ้นมา”
เคนเนดี วอร์น – เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2565–
ระเบิดปลา เป็นภัยคุกคามหนึ่งของแนวปะการังที่สำคัญในช่วงนี้ เนื่องจากความต้องการของมนุษย์ ทำให้ชาวประมงบางส่วนเลือกที่จะนำขวดที่บรรจุปุ๋ยไนเตรต และอุดปลาขวดด้วยเชื้อปะทุกับสายชนวน แล้วโยนขวดพวกนี้เพื่อสร้างแรงระเบิดที่รุนแรงเพื่อให้ปลาสลบหรือตายทันที ก่อนที่ชาวประมงจะกอบโกยปลาที่โชคร้ายนี้ขึ้นบนเรืออย่างง่ายดาย การประมงด้วยวัตถุระเบิด นี่ไม่ใช่วิธีเดียวเท่านั้น ยังมีการใช้อวนตาถี่ยิบที่นอกจากจะผิดกฎหมายแล้วยังเป็นสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ และยังเป็นการทำลายแนวปะการัง ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตในทะเลร่อยหรอลงอย่างฉับพลัน
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับประมงด้วยการใช้ระเบิดและอวนตาถี่ยิบไว้เมื่อครั้งที่ภาพของแนวปะการังเกาะโลซิน จังหวัดปัตตานี ที่เสียหายจนเกิดเป็นหลุมขนาดใหญ่และมีอวนบางส่วนที่ติดกับปะการัง ว่าคือภาพสะท้อนสถานการณ์แนวปะการังที่สมบูรณ์ที่สุดของอ่าวไทย กำลังอยู่ในภาวะถูกคุมคามจากมนุษย์ และยังไม่ได้รับการคุ้มครองจากภาครัฐ
ที่มา :https://www.thaipbs.or.th/news/content/253292
นอกจากการกระทำทางตรงของมนุษย์ที่เป็นภัยคุกคามที่สำคัญแล้ว ผลของภาวะโลกร้อนอย่างระดับน้ำทะเล อุณหภูมิของทะเลที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น และทะเลที่กำลังเป็นกรดเรื่อย ๆ เองก็กำลังทำร้ายแนวปะการังนี้อย่างช้า ที่บริเวณชายฝั่งปาลาวัน ประเทศฟิลิปปินส์ ชายฝั่งที่ครั้งหนึ่งเคยอุดมไปด้วยปะการังนานาชนิด หลากสีสันแต่ในตอนนี้กลับถูกย้อมด้วยสีขาวโพลน ที่ไร้ชีวิตชีวา เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น จนเลยจุดวิกฤตที่โพลิปของปะการังไม่สามารถอยู่อาศัยร่วมกับสาหร่ายได้ ซึ่งสาหร่ายเป็นผู้ที่มอบสีสันให้กับปะการัง หากไร้สาหร่ายปะการังก็คงเหลือแต่เพียงสีขาวโพลนเท่านั้น
นักวิทยาศาสตร์ด้านปะการังบางคนบอกว่า ‘ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างกว้างขวาง ซึ่งแต่ก่อนเกิดขึ้นทุกๆหลายสิบปี อาจเกิดขึ้นได้ทุกปีในไม่ช้า‘ หากความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศยังเพิ่มสูงขึ้น ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์นี้กำลังทำให้ทะเลเป็นกรดอย่างช้า ๆ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อหินปูนที่เป็นองค์ประกอบของสัตว์มีเปลือกทั้งหลายในทะเล รวมทั้งปะการังที่มีโครงสร้างหินปูนเพื่อยึดเกาะพวกมันเอาไว้ อัตราการละลายของหินปูนจะเพิ่มขึ้นจนอัตราการงอกใหม่ของปะการังไม่สามารถทดแทนส่วนที่เสียหายได้ทันส่งผลให้ปะการังเริ่มสลายตัว แล้วระบบนิเวศที่มีความหลากหลายในมหาสมุทรก็จะ’สูญหายไปตลอดกาล‘
วันสามเหลี่ยมปะการัง
จากที่กล่าวมาข้างต้น สามเหลี่ยมปะการังกำลังถูกคุกคามในทุกปี ดังนั้นเองโครงการริเริ่มสามเหลี่ยมปะการังว่าด้วยแนวปะการัง การประมงและความมั่นคงทางอาหาร (CTI-CFF) จึงกำหนดให้ทุกวันที่ 9 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันสามเหลี่ยมปะการัง โดยประเทศต่าง ๆ ในแถบสามเหลี่ยมปะการังและประเทศรอบข้างที่ได้รับผลประโยชน์จากความหลากหลายของสามเหลี่ยมปะการังจะจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายทางชีวภาพและร่วมกันสร้างความตระหนักต่อการอนุรักษ์แนวปะการัง ผ่านกิจกรรมโอเพ่นซอร์สที่หน่วยงานหรือบุคคลสามารถมีส่วนร่วม เช่น การทำความสะอาดหาดทราย, รับประทานอาหารทะเลจากการประมงแบบยั่งยืน, การจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายใต้ท้องทะเลของสามเหลี่ยมปะการัง, เทศกาลภาพยนตร์มหาสมุทร และอื่น ๆ อีกมากมาย
วันสามเหลี่ยมปะการังครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 2012 โดยจัดร่วมกับวันมหาสมุทรโลก (8 มิถุนายนของทุกปี) ภายใต้แนวคิด “Shared Waters, Shared Solutions” ซึ่งงานปีนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 15 ปีของโครงการริเริ่มสามเหลี่ยมปะการัง โดยมีประเด็นสำคัญของงานดังนี้
- การเฉลิมฉลองครบรอบ 15 ปีในเมืองมานาโด ซูลาเวซีเหนือ
- เปิดตัวกิจกรรมการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและปรับปรุงแนวทางปฏิบัติในการประมงอย่างยั่งยืนในสามเหลี่ยมปะการัง
- การจัดการประชุมระดับภูมิภาคเพื่อหารือเกี่ยวกับกลยุทธ์ความร่วมมือในการอนุรักษ์ทางทะเล
- เทศกาลภาพยนตร์ริมชายหาด
- สัมมนาพิเศษเรื่อง การเสริมศักยภาพและสนับสนุนสตรีในการประมงอย่างยั่งยืน
อ้างอิง
https://wwf.panda.org/discover/knowledge_hub/where_we_work/coraltriangle/events/coraltriangleday
https://en.wikipedia.org/wiki/Coral_Triangle
https://ngthai.com/environment/42679/underseasplendorphilippines