โลกของเราขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่ได้จากเทคโนโลยีอวกาศและการเสาะแสวงหาความรู้ทางดาราศาสตร์ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องกรองอากาศ, อินเตอร์เน็ต, สัญญาณโทรศัพท์ ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวเราล้วนแต่มีอวกาศมาเกี่ยวข้อง แต่ในหลักสูตรการศึกษาไทยเนื้อหาวิชาดาราศาสตร์แทบจะเป็นส่วนเล็ก ๆ ในหลักสูตรที่หนาแค่ไม่กี่หน้าเท่านั้น หรือแม้กระทั่งตอนเราเป็นเด็กเชื่อว่าใครหลาย ๆ คนน่าจะอยากเป็นนักบินอวกาศ การได้พุ่งทะยานขึ้นไปเลยชั้นเมฆ อยู่อาศัยบนสภาวะไร้น้ำหนัก มันช่าง ‘เท่’ ซะเหลือเกิน อนิจจังโลกความจริงไม่ได้เป็นเยี่ยงนั้นเส้นทางการเป็นนักบินอวกาศนั้นช่างแสนลำบากยากเข็ญจนทำให้เด็กหลาย ๆ คนต้องดับความฝันนั้นไปเมื่อเติบใหญ่
สำหรับ ‘กรทอง วิริยะเศวตกุล‘ หรือ กร KornKT แล้ว ผู้เชื่อว่าคนไทยไปอวกาศได้ เขาจึงอยากสื่อสารดาราศาสตร์และทำให้ดาราศาสตร์ใกล้ชิดคนไทยมากขึ้นกว่านี้เผื่อจะเป็นการเติมความฝันและแรงบันดาลใจให้ใครซักคนมีไฟที่จะคว้าความฝันและพาธงไตรรงค์ของไทยไปบนอวกาศในซักวัน และในวันนี้เราปฎิเสธไม่ได้เลยว่าเขาคนนี้มักปรากฎตามหน้าสื่อต่าง ๆ ในฐานะ ‘นักสื่อสารดาราศาสตร์’ แนวหน้าของไทย
พบกับเรื่องราวจากผู้เข้าแข่งแฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะสู่นักสื่อสารดาราศาสตร์ชั้นนำของประเทศจากจุดเริ่มต้น เส้นทาง อุปสรรคและความใฝ่ฝันได้ในบทสัมภาษณ์ที่จะมาเล่าประเด็นต่าง ๆ อย่างหมดเปลือก
เริ่มต้นจากการลองทำ
KornKT เป็นช่องสื่อสารดาราศาสตร์ อัพเดทข่าวสารและประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับอวกาศช่องหนึ่งท่ามกลางช่องครีเอเตอร์ที่มีอยู่อย่างมากมายในโซเชียลมีเดียในยุคสมัยนี่ที่ทุกคนก็สามารถเป็นคอนเทนท์ครีเอเตอร์ได้
ที่มาของชื่อช่อง KornKT?
มันย่อมาจากชื่อจริงของผม ก็ตอนนั้นก็เตรียมหาว่าจะใช้ชื่ออะไรดี แล้วเราติดตามพี่คนหนึ่งที่เขาใช้วิธีตั้งชื่อตามอีเมล์แบบสมัยก่อนว่าชื่อ 5 ตัวอักษรแรก นามสกุล 3 ตัวอักษรแรก แต่มันไม่รู้ว่าจะอ่านว่ายังไงดี มันอ่านยากก็เลยลองปรับมาใช้ชื่อเล่นกับคำย่อชื่อจริงดูละกัน เพราะรู้สึกว่าเราชอบใช้อย่างนี้มากกว่า
ปกติตอนที่เรียกตัวเองจะเรียกแทนตัวว่า @KornKT ตรงคำ @ มันมาจากอะไร?
@ มาจาก @sci ต้องเท้าความก่อนว่าเพจเราไม่ได้เริ่มมาจากเฟสบุ๊กครับแต่มาจากทวิตเตอร์ (X) เพราะยังงั้นช่วงหลัง ๆ คนก็มักติดปากเรียกแอด ตอนนี้ก็เลยพยายามจะปรับอยู่นะครับ
จุดเริ่มต้นของช่อง KornKT
จุดเริ่มต้นมันเริ่มมาจากในช่วงปี 2014 ตอนนั้นยังอยู่ ม.1 สมัยพึ่งหัดเล่นเฟสบุ๊กใหม่ ๆ เราอยากลองทำเพจ อยากลองทำนู่นทำนี่ทำนั้นไปหมด คิดว่าแบบ “เราทำอันนี้ มันก็ต้องมีคนที่อยากได้ข่าวสารจากอวกาศ” แต่ก็ทำได้แค่ 4-5 เดือน เพราะช่วงนั้นต้องเรียนด้วย ช่วงนั้นเลยไม่ค่อยมีเวลาทำเท่าไหร่
ตอนที่ทำเพจแรก ๆ เราใช้ชื่อว่าอะไร?
จำชื่อชัด ๆ ไม่ได้นะครับ ไม่รู้ว่าจะยังมีเก็บไว้อยู่ไหม เดี๋ยวจะไปคุ้ยให้นะครับ (หัวเราะ) น่าจะมีจดโน้ตไว้อยู่นะครับแบบ Korn55, Kornza, Kornzarmw อะไรเทือกนั้นครับ
อยากถามว่าตอนนั้นมีคนทำสื่ออวกาศเยอะเหมือนตอนนี้ไหม?
เอาเท่าที่เห็นผ่านตาตอนนั้น มีเพจของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT คือยุคนั้นก็มีเพจของ NARIT ที่คอยอัพเดตข่าวอยู่เรื่อย ๆ คือเวลามีปรากฏการณ์อะไร NARIT ก็เป็นคนลงให้อยู่เสมอตั้งแต่ตอนนั้นจนมาถึงตอนนี้
จุดเริ่มต้นแรก ๆ ก็คือมาจากเฟสบุ๊ก ก็คือเป็นงานเขียนหรอ?
ใช่ครับ เป็นงานเขียนเลย แต่เป็นแบบอัพเดทรูปสั้น ๆ แบบเดียวกับปัจจุบัน ซึ่งตอนนั้นก็มีคนตามแค่ 200 – 300 คน สำหรับตอนนั้นเรียกว่าเยอะมากเลยครับ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าเราไม่รู้จักใครเลย แล้วเราก็นาน ๆ ทำทีด้วย แต่ก็เรียกว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีช่วงนึงเลย แต่พักหลัง ๆ มาเริ่มทำวีดีโอมากขึ้น เพราะ ตอนเด็กเราเคยดูยูทูปแล้ว อยากทำเหมือนเขา เห็นคนได้โล่เงินแล้วดูเท่จังเลย
แล้วมีไอดอลไหม?
ก็ไม่ได้มีไอดอลขนาดนั้น เพราะเราชอบติดตามฝั่งที่เน้นการให้ข้อมูลตรง ๆ มากกว่า เลยได้เห็นว่าเขาก็เล่าอย่างนี่เลยคิดว่าเราก็น่าจะทำได้นะ ดังนั้นก็เลยได้ลงมือทำเลยตอนนั้นก็น่าจะซักประมาณ ม.2 เผอิญตอนนั้นเราไปเที่ยวต่างจังหวัด แล้วมันมีไอเดียก็เลยอยากลองทำดู
เรื่องที่ลองทำตอนนั้นเกี่ยวกับอะไร พอจะเล่าให้ฟังได้ไหม?
ตอนนั้นทำเรื่องไอที ส่วนหนึ่งเพราะเราตามข่าวเกี่ยวกับแบรนด์ Apple แต่ตอนนั้นเราก็ตัดต่อไม่เป็นก็เลยใช้โปรแกรมตัดต่อแบบ Movie maker ก็เลยทำอะไรมากไม่ได้เท่าตอนนี้ ส่วนเรื่องยอดวิว ตอนนั้นจำได้ว่าต้องดิ้นรนถึงขั้นไปเข้ากลุ่มแลกยอดผู้ติดตามแลกยอดผู้เข้าชม เพื่อเป็นทางลัดของคอนเทนต์เรา
ใช้อุปกรณ์อะไรตอนที่ถ่ายทำคอนเทนท์?
ช่วงนั้นใช้โทรศัพท์ถ่ายครับ ตอนนั้นโทรศัพท์ยังมีปุ่มกดอยู่เลยครับภาพอาจไม่ได้คมชัดเท่าสมัยนี้เท่าไหร่
แล้วหลังจากทำคอนเทนต์เกี่ยวกับไอทีแล้วยังไงต่อ?
ก็ไม่ได้ทำอะไรเลยครับ ช่วงนั้นยังเป็นช่วงที่เรายังสนุกกับชีวิตอยู่ครับ อยู่กับเพื่อนฝูง แต่มันก็แบบเป็นชีวิตประจำวันทั่ว ๆ ไปนะครับ แบบเลิกเรียนแล้วกลับมาเคลียร์งาน มันก็เลยไม่มีเวลาทำอะไรฝั่งนั้นเลยครับ
แบ่งเวลาทำคอนเทนต์ยังไง?
ช่วงที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นช่วงปิดเทอม แล้วก็ช่วงเตรียมมาเข้าสวนกุหลาบมันเป็นช่วงที่ไฟเรายังมาอยู่ บวกกับเพิ่งไปออกรายการมา เลยคิดว่าน่าเอาไปต่อยอดทำอะไรได้บ้าง ไหน ๆ ก็ว่างแล้วทั้งที
แสดงว่าตอนนั้นทำสื่อสองทาง ก็คือเฟสบุ๊กกับยูทูป ตลอดระยะเวลา 2-3เดือน เนื่องจากเวลาไม่มี ? และต้องหยุดทำเนื่องจากไม่มีเวลามากพอใช่ไหม?
ใช่ครับ ก็คือหยุดแล้วก็ลบทิ้ง ทุกวันนี้ยังอยากไปตีมือตัวเองอยู่เลยครับ
ทำไมตอนนั้นถึงตัดสินใจลบทิ้งไม่เก็บไว้? แล้วยังจำความรู้สึกตอนนั้นได้ไหม?
ตอนนั้นเรารู้สึกเขิน แล้วมาสำนึกได้ว่าเราทำอะไรลงไป ด้วยความรู้สึกว่าช่วงวัยเราทำได้แค่นี้ ก็เลยลบไปเลยแล้วกัน บวกกับเรายังเขิน ๆ ตัวเองอยู่ว่า “เราทำอะไรอยู่” ประมาณนี้ มุมนึงมันคือ ทำได้แค่นี้เอง เสียเวลาก็เลยลบออกไป ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเสียดายอยู่เลย น่าจะเก็บไว้นะครับ (หัวเราะ)
ชีวิตอีกมุมนอกจากอวกาศของ KornKT
อยากรู้ว่าช่วงที่ไม่ได้ทำสื่อ ชีวิตมัธยมทำอะไรบ้าง?
ก็มีเตะบอล ดูบอล นั่งเล่นเกมส์ ทั่ว ๆ ไปน่ะครับ
ที่ผ่านมาได้ทำกิจกรรมทางวิชาการบ้างไหม?
มีครับ แต่ไม่ได้ไปทางฝั่งวิชาการมากขนาดนั้นครับ แบบแข่งหุ่นยนต์บ้างประปราย แล้วแข่งเรื่องเขียนโค้ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ครับ ส่วนเรื่องความชอบดาราศาสตร์เหมือนว่าช่วงนั้นมันถูกกลืนไปเลย ทางไอทีเลยมาแทนน่ะครับ
อะไรที่ทำให้กรในวันนั้นที่มีแต่ด้านไอทีถึงได้มาเป็นกรในวันนี้ครับ?
ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เรากำลังค้นหาตัวเองอยู่ครับแล้วเรารู้สึกว่าเราทำเรื่องอวกาศมาก่อนก็จริง แต่เราก็สู้เด็กที่ไปแข่งโอลิมปิกไม่ได้ ในเรื่องทฤษฎีเค้าก็เก่งกว่าเราอยู่แล้ว ในอีกมุมหนึ่งเราก็ ‘ต้องไปหาจุดยืนในส่วนของเรา’ เพราะตอนนั้นผมก็เหมือนเป็นเด็กหลังห้องที่อยู่ในโซนหนีตายรั้ง 3 อันดับท้ายประจำ ซึ่งเราก็ได้แค่ภาษาอังกฤษ กับภาษาจีน
จากที่กรเล่ามา น่าจะมีความสามารถด้านภาษาที่ดีเลยใช่ไหม?
ถ้าสำหรับเพื่อนของเราในไทย เราก็ดูเก่งด้านภาษาต่างประเทศมากกว่าคนอื่น ๆ ครับ แต่ถ้าไปเทียบกับโรงเรียนนานาชาติแล้วเราไม่ได้เก่งภาษาต่างประเทศขนาดนั้นครับ ผมดูเก่งภาษาไทยมากกว่า สิ่งนี้ทำให้ตอนเราเรียนเลยดูเหมือนว่า ผมจะโดดเด่นด้านภาษามากกว่าด้านไอที
แล้วอะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราย้ายจากทำเรื่องอวกาศมาเป็นเรื่องไอที เพราะช่วงนั้นเริ่มติดตามแบรนด์ Apple ด้วยหรือเปล่า?
สำหรับแบรนด์ Apple ตอนนั้นเราติดตามเพราะวิธีที่เขาขาย วิธีที่เขาเปิดตัว มันไม่ใช่แค่คุณต้องซื้อเพราะตัวสินค้า แต่คุณต้องซื้อเพราะว่าด้วยเหตุผลอะไรอย่างอื่น เช่น ความสุนทรีย์ ความอะไรที่มันได้มาครับ มันไม่ใช่แค่ซื้อแล้วจบ แต่มันเหมือนให้คุณค่ากับตัวสินค้า ทำให้คนอยากเข้าหา ก็เลยชื่นชอบแนวคิดแบบนี้ก็เลยไปติดตามดู
จากประสบการณ์ทั้งหมดที่เล่ามา มันได้หล่อหลอมให้กรไม่ได้ทำแค่อวกาศเพียงอย่างเดียว ซึ่งมันก็ได้หล่อหลอมให้เป็นการงานของเราในปัจจุบันด้วยใช่ไหม ?
ต้องเล่าก่อนว่าช่วงวัยมัธยม ผมโดนกดดันเรื่องการเรียนมาโดยตลอด แล้วพอยิ่งโดนกดดันมาก ๆ เราก็ยิ่งต่อต้าน ไม่อยากมาทางสายวิชาการเท่าไหร่ ทำให้ช่วงนั้นก็เลยหนีออกมาฝั่งไอที,หุ่นยนต์, สื่อ และกีฬา เพราะมันก็ดูแบบเป็นอีกซีกหนึ่งที่มันน่าสนใจ ที่น่าจะเอาไปเล่นต่อได้ แล้วมันยังเป็นความชอบของเราตั้งแต่เด็กๆ
อีกอย่างสิ่งที่ทำให้เราอยากทำงานด้านสื่อ คือตอนเป็นเด็ก มักเห็นคนไปยืนรายงานข่าวหน้าโทรทัศน์แล้วเราก็อยากออกโทรทัศน์บ้าง มันก็เลยเป็นสิ่งหนึ่งที่ติดตัวเรามาเรื่อย ๆ จนทำให้เป็นเราในปัจจุบันครับ
แล้วหลังจากปิดช่องไปแล้วทำอะไรต่อ?
ก็เรียนครับแบบเอาตัวรอดไปวัน ๆ น่ะครับ มีเคลียร์การบ้าน ซึ่งบางทีเราตามงานไม่ทันก็พยายามหาว่าจะเอาตัวรอดยังไง ทำโปรเจกต์ส่ง ความคิดของเราตอนนั้นไม่ได้มองการณ์ไกลเลยครับ มองแค่เราเอาชีวิตรอดจากตรงนี้ให้ได้ ไม่ต้องติด 0, ร., มผ. เป็นพอครับ
จุดที่ทำให้เริ่มกลับมาในวงการอวกาศอีกครั้ง?
“ช่วง ม.3 ครับ แต่เป็นช่วงปลายปี” ตอนนั้นเป็นช่วงคาบเกี่ยวว่า จะต่อม.ปลายที่นี่ หรือจะลองสอบเตรียมฯ, มหิดลวิทย์ หรือจะไปยังไง เพื่อนที่เก่ง ๆ เขาก็ได้ต่อที่นี่ ไปต่อเตรียมฯ คือข้อแรกคะแนนช่วงนั้นของผมไม่สามารถต่อสวนกุหลาบได้ บวกกับถ้าเรายังอยู่ในระบบต่อ เรารู้สึกว่ามันหนักเกินไปสำหรับเรา ข้อสอง เราไปแข่งกับใครเขาไม่ไหวครับ กับอีกอันหนึ่งที่มันผุดขึ้นมา ตอนนั้นคือเราไม่มีความคิดจะมาทำด้านอวกาศตอนนั้นเลยอยากลองหาค่าย ค้นหาว่าชีวิตเราจะไปในรูปแบบไหนได้บ้าง เราก็เลยปล่อย ๆ ไปให้มันนำพาไปนะครับ จนกระทั่งเราจบค่ายทำเว็บพอดี ซึ่งในค่ายเขาสอนเรื่องใช้โซเชียลมีเดียทำคอนเทนต์ ตอนนั้นเราเลยได้เรียนรู้วิธีทำคอนเทนต์ให้คนสนใจ เลยเหมือนไปค้นพบและเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ มาแล้วก็เลยปลดล็อกความต้องการบางอย่างมาด้วยน่ะครับ
ซึ่งเรื่องนี้เกิดก่อนที่จะทำ Spaceth.co อีกนะครับ ก่อนหน้านั้นก็เว็บมีอีกอันนึงด้วย เป็นเพจด้านอวกาศ ทำคนเดียวเลย จริง ๆ ก็ทำมาหลายอันแล้วด้วยครับ ซึ่งพอทำครั้งที่สองก็เริ่มติด ทำบ่อย ๆ เข้าก็มีคนเข้ามาอ่าน มีคนเข้ามาดู บวกกับมันเข้ากับเหตุการณ์พอดี แล้วพอได้มาทำ Spaceth.co ก็เลยลบเพจนั้นทิ้งไป เพราะเรามาทุ่มกับทางฝั่งนั้นแบบเต็มตัวแล้วจากนั้นก็เลยเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของอะไรหลาย ๆ อย่าง ซึ่งมันก็เริ่มมาจากค่ายนั้นแหละครับ ประกอบกับสื่อตอนนั้นแทบไม่มีสื่อด้านอวกาศ พวกเราก็เลยมาลองดูซักตั้งดูนะครับ
Spaceth.co กับชีวิตที่ไม่เป็นไปตามแบบแผน
อยากรู้ว่าตอนทำ Spaceth.co ใครเป็นคนเริ่ม ใครชวนใครก่อน หรือว่าพร้อม ๆ กัน?
เริ่มจากตอนนั้นผมเขียนบทความเรื่องหนึ่งแบบส่วนตัวก่อน เป็นบทความแบบลองเชิงดู ซึ่งปกติเราเขียนในเว็บตัวเองแบบสั้น ๆ ตอนนั้นเลยส่งให้พี่เติ้ล Spaceth.co ที่เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Spaceth.co ช่วยดูว่ามีความเห็นยังไง แล้วเขาก็มีความเห็นกลับมาว่าโอเค หลังจากนั้นเขาเลยชวนกันมาทำเว็บด้วยกัน คือถ้าถามว่าใครเป็นตัวตั้งตัวตี ก็น่าจะเป็นพี่เติ้ล
รู้จักกับเติ้ล Spaceth.co ในค่ายที่เราไปเลยใช่ไหม?
ใช่ครับ เราสองคนเจอกันครั้งแรกในค่าย ซึ่งการรู้จักเขาทำให้เรารู้ว่าเรื่องอวกาศทำอะไรแบบนี้ได้ด้วย
ระยะเวลาจากค่ายจนถึงทำ Spaceth.co นานเท่าไหร่?
ประมาณเดือนกว่า ตอนนั้นก็เริ่มรวมทีมกันแล้ว แต่เปิดเว็บจริง ๆ ประมาณช่วงปลายกรกฎาคมครับ
จำวันที่ก่อตั้งได้ไหม?
ถ้าเอาวันที่ก่อตั้งจริงๆก็ ประมาณวันที่ 6 หรือ 7 มิถุนายน แล้วค่อย ๆ รวมตัวแต่ละคนเข้ามากัน
อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เราตัดสินใจพักการเรียนในตอนนั้น? คือพยายามค้นหาตัวเองอยู่ใช่ไหม?
เหมือนว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่เลยจุดตัดสินใจของเรามาแล้ว ซึ่งตอนนั้นเราแค่เอาตัวรอดก็พอ ซึ่งปัญหาที่ตามมามันก็คือคะแนนของเราไม่ได้ดีเท่าไหร่ ซึ่งตอนนั้นต่อให้จะจบด้วยเกรด 3.5 – 3.6 แต่ด้วยคณิตศาสตร์ที่ได้ 1.5 ดาราศาสตร์ผมได้ 2 มันก็เลยมีความรู้สึกว่าแบบ ถ้าเกรดแย่แบบนี้ไปเรื่อย ๆ เราคงจะไม่มีที่เรียนต่อ เราก็เลยอยากลองพักการเรียนมาตั้งหลักดูก่อน แบบอาจจะต่อกศน. เพราะตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าจะสอบเทียบยังไง หรือมีวิธีไหนที่เราทำได้บ้าง ตอนแรกมันก็แบบเราก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรพวกนี้ดีเท่าไหร่ แต่เอาเข้าจริง ๆ คนอื่น ๆ เขาเก่งกันมาก ๆ เลยแล้วยิ่งเรามีชื่อไปแข่งแฟนพันธุ์แท้ ระบบสุริยะมาด้วยก็เลยต้องทำอะไรซักอย่างที่มากกว่าที่เราทำอยู่ตอนนั้น
การพักการเรียนครั้งนั้นเราคุยกับที่บ้านยังไง?
เอาเข้าจริง ๆ ที่บ้านก็ไม่อยากให้พักการเรียนครับ แต่เราก็อยากลองพิสูจน์ตัวเอง เลยขอไปหาหนทางของตัวเองก่อน ถ้ามันล้มเหลวเดี๋ยวค่อยกลับเข้าระบบ ตอนนั้นก็คุยกันประมาณเดือนกว่า ๆ สองเดือน จนมันถึงจุดต้องตัดสินใจว่า “เราจะต้องพักการเรียนออกมา”
ตอนนั้นเราก็บอกเดี๋ยวไปสอบเตรียมฯ ดูก่อนถ้าติดเดี๋ยวไป ซึ่งก็ติดเป็นตัวสำรองนะครับ แต่ก็ไม่ได้ถูกเลือกก็เลยพยายามใหม่ให้มันเข้าเงื่อนไขที่เขากำหนด เพราะว่าเราพักการเรียนจากสวนกุหลาบมาด้วย จะเปลี่ยนใจหันหลังกลับก็ไม่ทันแล้วก็เลยตัดสินใจเอาไงเอากัน
ตอนนั้นรู้สึกยังไงบ้าง ?
จริงๆ ตอนนั้นผมรู้สึกโล่งนะ เพราะมีเวลาเล่นเกมส์เยอะมากเนื่องจากไม่มีใครมาคอยห้ามปราม ตื่นเช้ามาก็เปิดคอมฯ เล่นได้อย่างเต็มที่
ช่วงนั้นน่าจะต้องแบกรับความคาดหวังจากผู้ใหญ่เพราะในขณะที่คนอื่นกำลังเรียน เรามาเล่นเกมไปวัน ๆ แทน?
ถามว่ามีมั้ย มันก็มีครับ แต่มุมของผมมันคือแบบอยากลองหาทางของตัวเองดู มันก็เหมือนแอบหลอกตัวเองอยู่นะครับว่าเราค่อยหาทางเอาใหม่ละกัน ซึ่งตอนนั้นก็ไม่รู้จะเอายังไงดี คือถ้าไม่ได้ไปค่ายนั้นก็อาจจะไม่มีจุดพลิกผันเหมือนกันนะครับ
การได้มาทำ Spaceth.co มันทำให้เรารู้สึกมีอะไรให้เราทำ ทั้งทีจริง ๆ แล้ว มันเป็นการกลบปัญหาเรื่องไม่มีเวลาสินะ?
ใช่ครับ ช่วงนั้นผมก็ออกจากบ้าน 6 โมง เพราะต้องไปไหนมาไหนเองคนเดียว ตอนเย็นก็รอให้รถหายติดก่อนค่อยกลับบ้าน อาจจะไปเตะบอลกับเพื่อนถึงประมาณ 1 ทุ่มแล้วค่อยกลับบ้าน มันก็เลยวนซ้ำแบบนี้ หรืออย่างวันเสาร์-อาทิตย์ เราก็นอนพักผ่อนอยู่บ้าน วันไหนเพื่อนนัดก็ไปไหนก็ไป คือผมโชคดีกว่าเพื่อนตรงที่เรายังมีเวลาพักผ่อนแต่เพื่อนต้องไปเรียนพิเศษ พอเรามีเวลาพักก็อยากขอใช้กับตัวเองบ้าง มันก็ยังไม่ถึงขนาดกับต้องแบกรับเรื่องอื่น แต่มันก็รู้สึกหนักครับกับช่วงตอนนั้น แบบเรียนก็หนักงานก็เยอะ
ตอนนั้นรู้สึกโทษตัวเองไหม?
ผมมองว่าผมยังสู้เพื่อนหลาย ๆ คนไม่ได้จริง ณ จุดนั้นก็เลยรู้สึกว่าเพื่อนเขาเก่งแล้วเขามีพื้นฐานที่ดีกว่าเรา เขาก็เลยไปได้ไกลกว่าเรา แล้วพอเราหลุดออกจากระบบ เราก็เลยตามใครไม่ทันเขา ซึ่งตามปกติผมต้องหาวิธีผลักตัวเองให้ทัน แต่ตอนนั้นคือไม่ได้สนใจแล้วว่าจะเป็นยังไงต่อ เดี๋ยวเราก็หาวิธีเอาตัวรอดเองได้ ซึ่งที่บ้านของผมไม่เคร่งมาก ผมไม่จำเป็นต้องได้ที่หนึ่งหรือคะแนนดีเหมือนบ้านอื่น พวกท่านคาดหวังแค่อย่าทำให้ทุกอย่างมันแย่มากไปกว่านี้เลย
การที่เราได้ทำ Spaceth.co แล้วเริ่มดังขึ้นมามันได้เรียกความมั่นใจในตัวเองของเรากลับมาไหม?
ก็ค่อนข้างมั่นใจขึ้นมากเลยครับแต่ไม่ได้เต็มร้อยครับ ตอนนั้นเรามองว่ายังมีคนที่เก่งกว่าเรา ผมค่อนข้างวางตัวเองไว้ว่า เราไม่ใช่คนที่ตรัสรู้ทุกอย่าง เรามีหน้าที่แค่เอาสิ่งที่เรารู้มาส่งต่อ หรือเอาเรื่องจากคนที่รู้มากกว่าเรา มาเรียบเรียงให้คนเข้าใจ มันทำให้เราไม่ต้องเข้าใจทุกเรื่องก็ได้ แค่เราสามารถหาแหล่งข้อมูล แล้วส่งต่อให้คนอื่นได้ก็พอ อย่างทุกวันนี้ผมคิดว่าผมไม่เก่งวิทยาศาสตร์ขนาดนั้น เราแค่อันไหนที่ไม่ชัวร์ต้องพยายามทำการบ้านให้มากขึ้น แล้วในท้ายที่สุดเราก็จะได้เข้าใจในประเด็นนั้นเอง ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ผิดพลาดและเรียนรู้ทุกวัน กับประเด็นใหม่ ๆ ที่มันเข้ามาตลอดเวลา
หลังจาก Spaceth.co เราได้ทำอะไรต่อ จนมาถึงทุกวันนี้?
คือการได้ทำ Spaceth.co ก็เหมือนมันเป็นประสบการณ์ทำงานอย่างหนึ่ง เพราะว่าตั้งแต่เริ่มเพจจนเข้าปีสอง ก็คือผมลงคอนเทนต์แทบจะทุกวัน ไม่มีวันหยุดเลย อาจเพราะช่วงนั้นมีไฟอยู่ด้วย เรารู้ตัวว่าโอกาสมันมาแล้ว เราก็ยิ่งแบบทำเรื่อย ๆ ทำทุกวัน มันเป็นความรู้สึกที่แบบเราร่วมก่อตั้งขึ้นมา เราก็อยากพาตรงนี้ไปให้ถึงที่สุด มันเป็นความรู้สึกที่แบบประเทศไทยต้องมีอะไรอย่างนี้ขึ้นมาบ้าง
ตอนนั้นเราคิดว่า มันคือโอกาส เราต้องทำให้เต็มที่ ก็เริ่มหาเลยครับ หลักในการเขียน เราก็พยายามดูว่า ที่เราเขียนไปมันโอเคไหมตรงไหนปรับให้มันดีขึ้นบ้าง ก็จะเป็นจุดนี้ที่แบบพาให้เราได้ไปงานต่าง ๆ ได้ไปเจอหนทางอื่น ได้สอบเทียบแล้วมันก็เลยพาเราเข้ามหาลัยมาได้ พอสอบเทียบได้เรารู้ว่าทางมหาวิทยาลัยเขามีทุน ซึ่งทุนนี้เปิดโอกาสให้เราด้วย เพียงแค่คุณเอาผลงานคุณมาโชว์ว่าคุณเก่งพอหรือเปล่า ซึ่งมันก็โชคดีครับที่เรื่องอวกาศไม่มีใครทำ มันก็เลยดูเป็นอะไรที่ดูน่าสนใจน่าจับตามอง เราก็เลยได้ทุนและพาเรากลับเข้าสู่ระบบอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
ระยะเวลาตั้งแต่พักการเรียนมาจนถึงกลับเข้าสู่ระบบ ผ่านมากี่ปี?
ถ้านับจริง ๆ ผมออกมาก็เกือบ 2 ปีได้เลยนะครับ
อันนี้ก็ถือว่าเร็วกว่าเพื่อนในรุ่นเดียวกันมากเลยใช่ไหม?
ใช่ครับ เหมือนเป็นทางลัดไปเลยมากกว่านะครับ
ช่วงสอบเทียบนี้เราเตรียมตัวยังไง?
สารภาพตามตรงว่าไม่ได้เตรียมตัวเลยครับ มันเหมือนแค่เรารู้สึกว่าเดี๋ยวลองไปทำดูละกัน คือผมมองว่าในช่วงประถมคะแนนมันก็โอเคอยู่ ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในระดับท็อป แต่ในอีกมุมหนึ่ง พอเรากลับมาทำสื่อ มันก็เป็นการกระตุ้นว่าตัวเองต้องหาความรู้ด้านภาษาอังกฤษ เพราะข่าววิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ก็เป็นภาษาอังกฤษ รวมกับด้วยความที่อันไหนที่เราไม่เข้าใจเราก็มาเปิดอ่าน มันก็เลยเอามาเสริมกับฐานเก่าแล้วเราก็เอามาต่อยอดได้
อันนี้เนื่องด้วยจากที่เรามีความสามารถอยู่แล้ว แต่ด้วยระบบการศึกษาของไทยทำให้ต้องแข่งขัน จนเรารู้สึกว่าเราไม่เก่งด้วยหรือเปล่า?
มันก็ใช่ครับ เพราะยิ่งอยู่ห้องที่มีการแข่งขันสูงด้วยแล้ว มันทำให้เรายิ่งรู้สึกอยากถอยออกมาเพราะเพื่อนคนอื่น ๆ เขาเก่งกันมากจริง ๆ จะให้เราไปแข่งกับเขาเราก็เลยรู้สึกยิ่งแข่ง เรายิ่งเครียด ความรู้สึกตอนนั้นคือ “ชีวิตมัธยมมันน่าจะมีอะไรมากกว่าแค่เรียนหรือเปล่า” เราก็เลยถอยออกมาจากทุกการแข่งขันแล้วหันไปทำอะไรที่เราอยากทำจริง ๆ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าเพราะการแข่งขันทำให้เพื่อนแต่ละคนได้เข้าคณะที่เขาอยากเข้ากัน มันก็เป็นความสำเร็จของแต่ละคนเหมือนกัน เรารู้สึกว่าด้วยระบบการศึกษาของไทยที่ทำให้การเรียนไม่ใช่การหาความรู้ แต่เป็นการแข่งขัน มันยิ่งทำให้เราต้องเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ จนเรารู้สึกแย่ไปเองในที่สุด
เราเรียนคณะอะไรอยู่?
ปัจจุบันเรียนนิเทศศาสตร์สาขาการผลิตสื่อสมัยใหม่ เป็นคณะที่เพิ่งเปิดใหม่เป็นคณะที่เปิดมาเพื่อรองรับการเป็นยูทูปเบอร์น่ะครับ
ทำไมถึงเลือกด้านนี้ ?
เป็นสาขาที่ตอบรับต่อความต้องการของเราที่จะเป็นยูทูปเบอร์ครับ และเป็นคณะเดียวในสาขานิเทศฯ ที่ให้ทุน
ทำไมถึงมาเรียนด้านอื่นทั้งที่เราสนใจด้านอวกาศ ?
การเรียนตรงสายกับความชอบ เรื่องนี้เราต้องแยกเป็น 2 เรื่องนะครับ คือฝั่งนิเทศฯ เราเรียนเพื่อหวังว่าถ้าอวกาศมันไปไม่รอดจริง ๆ เราก็ยังมีพื้นฐานนิเทศฯ ที่ทำให้เราไปเป็นนักข่าว หรือทำงานด้านอื่นก็ได้ กับอีกนัยนึงเพราะมันเป็นแผลเป็นจากตอนที่เราเรียน ที่เราไม่ได้ทำอะไรที่เราอยากทำซักที พอขึ้นมหาลัยเราคิดว่ามันก็น่าจะโหดกว่านี้ ขนาดคนที่อยู่ในระบบมันเหมือนเป็นการต่อยอดจากความรู้ในอดีตไปอีก 3 ปีครับ แต่เราไม่ได้อะไรจากตรงนั้นเลยมันเลยเป็นช่องว่างที่หนักเกินไปสำหรับเรา
แสดงว่ากรหาตัวเองเจอตั้งแต่เด็กแล้วมุ่งจะมาทางของตัวเอง แต่ยังไม่มั่นใจว่าอวกาศจะรอดไหมก็เลยตัดสินใจเรียนนิเทศศาสตร์ ไปก่อนใช่ไหม?
มันมีหลายปัจจัยครับ คือเราก็ไม่รู้ว่า ในอนาคตถ้าสื่อเจ้าใหญ่ ๆ เขาลงมาเล่นด้วยแล้วเขาเอาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาพูด เราไม่รู้ว่าพอถึงตอนนั้นเราจะยังรอดอยู่ไหมแต่ถ้าเรามีความรู้นิเทศฯ ติดตัวน่าจะพอช่วยอะไรเราได้บ้างครับ
ยังไม่มั่นใจในการตัดสินใจอยู่ใช่ไหม?
ใช่ครับ ผมยังรู้สึกไม่แน่ใจเท่าไหร่ แต่ว่าความรู้สึกไม่มั่นใจว่าตัวเองจะทำได้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องเผชิญอยู่แล้วน่ะครับ
แล้วตอนนี้มั่นใจแล้วใช่ไหม ว่าจะอยู่กับการทำคอนเทนต์อวกาศไปตลอดเลย?
ถ้าถามตอนนี้ก็มั่นใจ แต่อาจจะไม่ต้องถึงกับอยู่กับมันไปจนตายก็ได้ แค่อยากให้เห็นว่า
“ประเทศไทยเป็นประเทศที่ข่าวอวกาศ มันถูกพูดถึงได้เหมือนข่าวอื่น ๆ “
ผมมองว่าทุกวันนี้เรามีข่าวต่างประเทศ ข่าวการเมือง ข่าวบันเทิง ข่าวทั่ว ๆ ไปที่เราสามารถนำพาพูดกันในวงสังคมได้ มันคงจะดีไม่น้อยถ้ามีพื้นที่ข่าวอวกาศในหน้าสื่อบ้าง โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังจะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ที่เราจะกลับไปดวงจันทร์อีกครั้ง แล้วจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกหลาย ๆ อย่างตามมา ก็พบว่ามีไม่กี่ประเทศที่สื่อทำด้านนี้อย่างจริงจัง เราก็เลยหวังอยากให้ไทยมีบ้างน่ะครับ
ในปัจจุบันการพูดเรื่องอวกาศ มันดูเป็นเรื่องที่แบบ ‘เนิร์ดจัง เด็กเรียนจังเลย มันเฉพาะกลุ่มไปไหม’ ซึ่งเราอยากให้พูดกันได้จนเป็นเรื่องปกติ นั้นคือสิ่งที่มั่นใจว่าถ้าเราก็ยังมีแรงที่จะทำอยู่ก็อยากจะทำต่อไปเรื่อย ๆ ครับ
ตั้งแต่ที่ได้ทำสื่อสมใจแล้ว มั่นใจในตัวเองมากขึ้นหรือยัง
มั่นใจขึ้นมาก ถึงแม้มันจะไม่ได้เป็นไปตามที่เราหวังทั้งหมด คือตอนนั้นเราคิดว่างานสื่อมันง่ายแค่ออกกล้องก็พอ แต่พอได้เข้ามาทำงานจริง ๆ ก็เลยรู้ว่ามันไม่ได้ง่ายเลย มันมีเบื้องหลังอะไรเยอะแยะเต็มไปหมด ซึ่งมันก็ค่อนข้างเหนื่อยแต่เป็นการเหนื่อยที่คุ้มค่า เรารู้สึกว่าเราเติบโตขึ้นจากเมื่อวาน เราได้เจออะไรที่เราสามารถเอาไปส่งต่อให้คนอื่นได้ มันก็รู้สึกว่าคุ้มค่ามากที่ได้ลองทำ ตอนนี้เราได้ลองทำทั้งสื่อกีฬา สื่ออวกาศ ก็ดูเป็น 2 สายที่ไม่ได้ไปด้วยกันได้เลย แต่พอได้ลองมันก็เหมือนได้ตอบสนองความชอบ, ความต้องการของเราในวัยเด็ก เราก็ชอบอะไรเราก็หยิบความชอบความสนใจมาสร้างเป็นชิ้นงานได้ ผมว่าเป็นสิ่งที่ดีเลยล่ะ
แล้วสำหรับตัวกรคิดว่าอนาคตของเพจ หรือว่า สื่อที่ชื่อ KornKT เป็นยังไง ?
ถ้าเอาความต้องการส่วนตัวก็อยากให้อยู่ในท็อปต้น ๆ ด้านอวกาศของไทย เราก็อยากให้ไปให้สุด เราสั่งสมประสบการณ์ก็ร่วม 7 ปี แต่ถ้าเอาในภาพรวมจริง ๆ มันอาจไม่จบแค่ KornKt (KornKT) ก็ได้ เอาแค่ว่าสิ่งที่เราเริ่มจากช่วงนี้ มันไปจุดประกายให้ใครสักคนที่ตามคอนเทนต์เรา แล้วเขาชอบด้านอวกาศแต่มันก็หายไปช่วงนึงแบบเดียวกับเรา เรารู้สึกไม่อยากให้ (ประเทศ) ไทยต้องเสียคนที่มีความชอบ มีความคลั่งไคล้ในด้านนี้ไป เพราะมันไม่ง่ายที่จะเห็นคนมาทำด้านนี้อย่างจริง ๆ จัง ๆ
ถ้าในอนาคตไปเจอเด็กที่คล้าย ๆ เรา จะแนะนำเขายังไงดี?
อยากให้ลองไปตามเส้นทางของตัวเอง มันอาจไม่ง่ายดังที่ฝันไว้ แต่การได้ลองทำจะช่วยให้เรารู้ว่าเราชอบอันนี้จริง ๆแล้วเราจะใช้ชีวิตกับมันไปตลอดได้ไหม ลองให้เต็มที่ไปก่อนเพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องมองย้อนกลับมาแล้วแบบ ‘ทำไมตอนนั้นเราไม่ได้ทำ’ จะได้ไม่เสียดายทีหลัง ซึ่งถ้าถึงจุดนั้นเราก็อยากจะส่งต่อโอกาสนี้ไปให้ทุกคน มันเป็นสิ่งที่อยากทำมาก การทำให้เด็กไทยมีโอกาสเพิ่มขึ้น เราเชื่อว่ามีคนที่ชอบด้านอวกาศเยอะ เพียงเขาจะเข้าไม่ถึงมันมากกว่า มันจึงเป็นเป้าหมายสูงสุดของเราที่อยากให้คนที่เค้าคลั่งไคล้หรือเก่งกว่าเราสามารถเข้าถึงมันได้
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากขอบคุณอะไรตัวเองในอดีต?
ถ้าจะขอบคุณที่สุดคือ ขอบคุณความบ้าของตัวเอง เพราะความบ้าของผมมันทำให้ผมส่งอีเมล์ไปสมัครแข่งขันแฟนพันธุ์แท้ ความบ้าที่ทำให้ออกจากระบบการศึกษา และความบ้าจากในช่วงที่ออกมาก็เจอช่วงมรสุม แต่เราก็ยังใช้ความบ้านำทาง เพราะเชื่อว่าเดี๋ยวมันก็โอเค เดี๋ยวมันก็ผ่านไปได้
“บางครั้งทุกเรื่องอาจไม่เป็นใจให้เรา พอเราตื่นมาเดี๋ยวมันก็ดีขึ้นเอง”
สิ่งนี้คือสิ่งที่ยึดเหนี่ยวผมเหมือนกันว่า ถ้าเราไม่บ้า ชีวิตเรามันน่าจะพลิกไปอีกรูปแบบหนึ่งได้เลยนะครับ
ใส่ความเห็น