Hilight
- ปกติแล้วศัตรูของหนอนผีเสื้อสีฟ้า (Gossamer-winged butterfly) มีมากมาย แต่ที่ร้ายสุด ๆ คือมด
- จุดเด่นที่ทำให้มดเป็นศัตรูที่ร้ายกาจคือจำนวนที่มีมากมายของพวกมัน
- หนอนผีเสื้อสีฟ้าบางชนิดพัฒนาต่อม Dorsal Nectary Organ เพื่อปล่อยน้ำหวานออกมาให้กับมด เพื่อให้มดเสพติด และเป็นพวกเดียวกับผีเสื้อ
- ผีเสื้อสีฟ้ามีอีกต่อมที่ทำงานร่วมกันเรียกว่า Tentacular Organ ที่สร้างสารทำให้มดเกรี้ยวกราด เพื่อปกป้องผีเสื้อ
ในชีวิตของคนเรานั้นต้องพบปะผู้คนมากมายในสังคมไม่ว่าจะคนที่เราชอบ หรือไม่ชอบ คนที่เรารัก หรือคนที่เราเกลียด คุณมีวิธีรับมือกับการพบปะกับคนที่คุณไม่ชอบได้อย่างไร คุณจะทำอย่างไรหากต้องมีเหตุการณ์บางครั้งที่บีบบังคับให้พวกคุณมาเจอกัน แต่นั้นไม่ใช่ปัญหาเลยสำหรับหนอนผีเสื้อบางตัว เพราะหนอนผีเสื้อกลุ่มนี้มีกลวิธีที่แยบยลจนคุณต้องสงสัยว่ามันทำได้อย่างไรกับเพียงสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้มีระบบประสาทที่ซับซ้อนเท่ากับคน ผีเสื้อกลุ่มนั้นคือผีเสื้อสีฟ้า (Gossamer-winged butterfly) ซึ่งถูกจัดอยู่ในวงศ์ Lycaenidae
โดยปกติแล้วศัตรูของหนอนผีเสื้อมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแมลงด้วยกันอย่างตั๊กแตนตำข้าว ผึ้ง ต่อ แตน ตัวเบียนอย่างแตน ต่อ หรือแมลงวันบางชนิด จนลากยาวไปถึงสัตว์มีกระดูกสันหลังอย่างนก หรือบางครั้งคนก็เป็นศัตรูกับหนอนผีเสื้อเฉกเช่นรถด่วนที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ยิ่งถ้าได้ฟ๊อกกี้เสปรย์ซอสลงไปแล้วหอมยั่วยวนบาดใจ แต่นี่ไม่ใช่รีวิวความอร่อยของแมลงเหล่านี้ แต่คือการกล่าวถึงสิ่งที่หนอนผีเสื้อต้องเผชิญก่อนที่จะเป็นตัวเต็มวัยและออกโผบินไปในโลกที่แสนจะกว้างใหญ่ ซึ่งหนึ่งในศัตรูที่ราวกับเป็นคู่รักคู่แค้นกันมาตั้งแต่ชาติปางก่อนอีกตัวหนึ่งของมันก็คือ มด ใช่ครับ มดตัวน้อยตัวนิดที่สมัยเด็กเรามักเอานิ้วไปขยี้มดที่ต่อแถวเดินกันแล้วทำให้มันโกลาหลและงุนงงอยู่พักใหญ่นี่แหละครับ ที่เป็นศัตรูที่น่ากลัวสุด ๆ ไม่ใช่แค่กับหนอนผีเสื้ออย่างเดียว แต่กับสิ่งมีชีวิตอื่นหลาย ๆ ชนิดบนโลกนี้ก็กลัวมด โดยความน่ากลัวของมดไม่ได้อยู่ที่รูปร่างหน้าตา หรืออาวุธยุทโธปกรณ์ที่มดมี แต่มันคือจำนวนที่ไม่ใช่หนึ่งต่อสิบ แต่เป็นหนึ่งต่อร้อยต่อพันที่จะต้องต่อสู้กับมดอย่างโดดเดี่ยวเดียวดายในธรรมชาติ เรียกว่าเก่งไม่กลัวแต่กลัวเยอะ
แล้วหนอนผีเสื้อสีฟ้ามันมีวิธีการอย่างไรในการเปลี่ยนศัตรูหรือผู้ล่าอย่างมดมาเป็นบอดี้การ์ดกัน ในบางชนิดก็พยายามที่จะพรางตัวเพื่อให้แนบเนียนไปกับสภาพแวดล้อมที่มันอยู่ บางชนิดอาจจะทำตัวให้สะดุดตาราวกับมีไฟสปอตไลท์มาฉายเพื่อบ่งบอกว่าตัวเองมีความอันตราย ถ้าเป็นคนเราก็คงจะใช้เงินในการจ้างวาน แต่ในโลกของแมลงนั้นเงินที่เรามีก็ไม่สามารถใช้เงินจ้างศัตรูให้มาปกป้องเราได้ หนอนผีเสื้อสีฟ้าบางชนิดจึงพัฒนาต่อมขึ้นมาต่อมหนึ่งเรียกว่า Dorsal Nectary Organ ที่มีไว้เพื่อปล่อยน้ำหวานออกมาเพื่อใช้จ้างมดที่เป็นศัตรูให้มาเป็นบอดี้การ์ดปกป้องมัน
แต่ทว่ามดเหล่านี้หารู้ไม่ว่าน้ำหวานที่มันกินจากหนอนไปก็ไม่ต่างอะไรกับลูกอมสอดไส้ด้วยยาพิษที่จะย้อนกลับมาทำร้ายตัวมันเอง สมัยก่อนเราเชื่อแค่ว่าหนอนให้น้ำหวานกับมดเพื่อเป็นรางวัลตอบแทนที่ปกป้องตัวมันจากศัตรูตัวอื่น แต่ในปัจจุบันนั้นงานวิจัยได้เผยออกมาว่าน้ำหวานที่ให้มดกินนั้นเป็นสารกลุ่มไบโอเจนิคเอมีน ซึ่งมีสารหลายชนิดเป็นองค์ประกอบ นอกจากน้ำตาลซูโครสแล้ว สารเหล่านี้ที่เมื่อทำงานร่วมกันจะกลายเป็นยาเสพติดให้กับมด ทำให้มดกระเหี้ยนกระหือรือที่จะต้องการน้ำหวานจากหนอนมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ซ้ำร้ายนอกจากจะให้ยาเสพติดกับมดแล้วยังทำให้เป็นทาสในเรือนเบี้ย โดยการที่เมื่อไหร่ก็ตามที่หนอนรู้สึกไม่ปลอดภัย หรือเสี่ยงต่อผู้ล่า มันจะหยุดให้น้ำหวานกับมด ลองคิดดูว่าถ้าเราชอบกินอะไรบางอย่าง หรือชอบทำอะไรบางอย่าง หากเราไม่ได้ทำหรือไม่ได้กินในสิ่งนั้นจะหงุดหงิดแค่ไหน แต่หนอนผีเสื้อสีฟ้าไม่ได้ทำแค่นั้นสิ่งที่มันทำร่วมกันคือเปิดใช้งานต่อมอีกต่อมหนึ่งคือ Tentacular Organ หรือบางครั้งจะเรียกว่า Tentacle Organ ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับ Dorsal Nectary Organ โดยต่อมนี้จะทำหน้าที่ผลิตสารระเหยบางตัวมันไม่ได้ทำให้มดลอย แต่กลับไปเพิ่มความเกรี้ยวกราดให้กับมดเข้าไปอีก เหมือนเอาน้ำมันราดไฟในกองไฟที่กำลังลุกโชติช่วง ทำให้มดตื่นตัวและพร้อมจะฟาดฟันกับทุกสรรพสิ่งที่จะเข้ามาทำร้ายหนอนเพื่อให้หนอนสบายใจ และเมื่อหนอนสบายใจก็จะหลั่งน้ำหวานให้มดกลับไปกินต่อได้ตามเดิม ถ้าหากว่าคุณเป็นหนอนผีเสื้อสีฟ้าคุณจะมีวิธีการอย่างไรเพื่อการเอาตัวรอดในโลกธรรมชาติที่กว้างใหญ่และห้อมล้อมไปด้วยศัตรู
อ้างอิง
https://doi.org/10.1016/j.cub.2015.07.067
https://doi.org/10.1016/j.cub.2015.07.016
https://en.wikipedia.org/wiki/Arhopala_japonica#/media/File:JaponicaMFUpUn_546_AC1.jpg
http://eebweb.arizona.edu/animal_behavior/lycaenids/lycaen8.htm
https://butterflycircle.blogspot.com/2020_08_01_archive.html