“When religion and politics travel in the same cart, the riders believe nothing can stand in their way. Their movements become headlong – faster and faster and faster. They put aside all thoughts of obstacles and forget the precipice does not show itself to the man in a blind rush until it’s too late.”
Frank Herbert, Dune
Dune คือซีรี่ย์นิยายจากปลายปากกาของ Frank Herbert เรื่องราวของ Dune เริ่มต้นขึ้น ณ อนาคตอันแสนไกลมนุษย์ได้ออกไปตั้งถิ่นฐานบนดาวต่าง ๆ โดยดาวแต่ละดวงจะมีขุนนางที่ขึ้นตรงต่อองค์จักรพรรดิแห่งบัลลังก์สิงโตทองบนดาว Salusa Secundus โดยเรื่องราวของ Dune เริ่มต้นขึ้นเมื่อองค์จักรพรรดิ Shaddam Corrino IV ทรงมีรับสั่งมอบดาว Arrakis ซึ่งเดิมเป็นของตระกูล Harkonnen ให้แก่ตระกูล Atreides แต่ทว่าเบื้องหลังความจริงของคำสั่งนี้คือ การสมคบคิดกับ Siridar-Baron Vladimir Harkonnen หัวหน้าตระกูล Harkonnen เพื่อกำจัดดยุก Leto Atreides I และครอบครัวที่ในตอนนี้กำลังมีอำนาจในสภามากขึ้นจนอาจสั่นคลอนบัลลังก์ของจักรพรรดิได้ โดยเรื่องราวในช่วงแรกจะดำเนินบนดาวทะเลทรายที่มีชื่อว่า Arrakis ซึ่งเป็นดังขุมทองของจักรวรรดิเนื่องจากธุรกิจการขุด Spice ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ขุดได้เฉพาะในดาวดวงนี้เท่านั้น โดย Spice คือหัวใจหลักในการคำนวณหาพิกัดในการเดินทางไปยังดาวต่าง ๆ ในอาณาเขตของจักรวรรดิ และมนุษยชาติพึ่งพา Spice เป็นอย่างมากในชีวิตประจำวัน อันเป็นผลมาจากคำสั่งแบนปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ทั่่วจักรวรรดิทำให้การใช้งาน Spice เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของมนุษย์ทดแทนการทำงานของคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ Spice ยังเป็นสิ่งเสพติด และเป็นเครื่องมือที่แสดงถึงอำนาจ
Dune จัดเป็นนิยายไซไฟคลาสสิคที่มีเนื้อหาเข้มข้นทั้งการเมืองในแบบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism) ที่เต็มไปด้วยการชิงไหวชิงพริบ, การทรยศหักหลัง, การใช้อำนาจทางศาสนาเพื่อควบคุมการเมือง ซึ่งได้กลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวที่ขับกล่อมผู้อ่านนวนิยายเรื่องนี้จนได้ถูกพัฒนาเป็นมินิซีรี่ย์และภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 1984 นอกจากเกมส์การเมืองแล้ววิธีการต่อสู้ใน Dune ยังมีความแตกต่างจากนวนิยายไซไฟเรื่องอื่น ๆ ที่มีการใช้อาวุธปืนหรือการขับหุ่นยนต์ Dune กลับเสนอวิธีการต่อสู้เฉกเช่นอัศวินในยุคกลางอย่างการใช้ดาบ ยาพิษ อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีเกราะเรื่อง Dune จะป้องกันการโจมตีทุกชนิดที่ทำความเร็วสูง ดังนั้นเองลีลาการต่อสู้ของ Dune จึงกลายเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นแนวเดียวกัน
เกมส์การเมืองที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน
สังคมมนุษย์ คือสิ่งอันซับซ้อนที่สุดของประวัติศาสตร์มนุษย์ การรวมกลุ่มของมนุษย์จำนวนมากนำมาสู่การพัฒนาของทางสังคมวิทยา ซึ่งมนุษย์ได้คิดค้นรูปแบบการปกครองออกมาหลากหลายมากมาย เช่น สมบูรณาญาสิทธิราชย์ สาธารณรัฐ ประชาธิปไตย ฯลฯ โดยระบอบ Feudal คือรูปแบบการปกครองหนึ่ง ที่ในปัจจุบันได้ถูกยกเลิกไปเนื่องจากไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ที่คนตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น
Feudalism คือรูปแบบการปกครองของยุโรปในสมัยกลาง, ญี่ปุ่นก่อนการปฎิรูปเมจิ ถึงแม้ว่าจุดกำเนิดของระบอบศักดินาจะแตกต่างกันแต่รูปแบบที่เหมือนกันคือ การแบ่งดินแดนให้ขุนนางใต้ปกครองของตนเป็นทอด ๆ โดยเหล่าขุนนางจะได้รับการคุ้มครองโดยเจ้านายของตน (จักรพรรดิ) แลกกับการส่งทรัพยากรบางส่วนให้กับเจ้านายของตน อย่างไรก็ตามการแย่งชิงอำนาจของเหล่าขุนนางในระบอบ Feudal เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะการได้รับสิทธิในการปกครองดินแดนของตระกูลอื่นย่อมหมายถึงการมีกำลังพลและทรัพยากรที่มากขึ้น การสะสมกำลังรบและทรัพยากรของเหล่าขุนนางที่มากขึ้น อาจสั่นครอนอำนาจของจักรพรรดิ
ในซีรี่ย Dune นั้นการชิงอำนาจทางการเมืองเป็นหัวใจหลักที่ขับเคลื่อนเนื้อเรื่องมาตั้งแต่ภาคแรกของซีรี่ย์นี้ อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีของจักรวรรดิด้านการรบเองก็เปลี่ยนไปเมื่อการมาถึงของเกราะที่ป้องกันวัตถุที่พุ่งมาด้วยความเร็วสูง แต่สำหรับวัตถุที่เดินทางด้วยความเร็วต่ำ ๆ จะสามารถผ่านและทำอันตรายได้ ทำให้ไม่พบการใช้อาวุธปืนในการต่อสู้แต่เป็นการใช้อาวุธมีคม เช่น ดาบ หอก มีด หรือแม้แต่ยาพิษ
เกราะแบบ Non-newtonian fluid
เกราะป้องกันของเหล่าขุนนางในเรื่อง Dune มีความพิเศษคือสิ่งใดที่เครื่องที่มาด้วยความเร็วและแรงมาก ๆ จะไม่สามารถทะลุผ่านเกราะนี้มาได้ ในขณะที่อะไรที่เคลื่อนที่ช้า ๆ จะสามารถผ่านเกราะนี้เข้ามาได้ กลไกของเกราะนี้มีความพิเศษบางอย่างที่เราไม่สามารถพบได้ในซีรี่ย์ไซไฟเรื่องอื่น ๆ ที่เกิดในยุคเดียวกัน ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้มีความคล้ายคลึงกับของไหลที่ไม่ได้เป็นไปตามกฎความหนืดของนิวตัน หรือNon-newtonian fluid
ของไหลที่ไม่เป็นไปตามกฎความนหนืดของนิวตัน คือสสารที่มีพฤติกรรมการไหลไม่เหมือนของไหลแบบนิวโตเนียน กล่าวคือความหนืดของของไหลจะขึ้นอยู่กับความเครียดและแรงที่มากระทำกับสสาร โดยเราแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ
- ของไหลแบบนอนนิวโตเนียนที่ไม่ขึ้นกับเวลา (time independent fluid)
- ของไหลแบบซูโดพลาสติก (pseudoplastic fluid) คือของไหลที่เมื่อมีแรงกระทำมากขึ้นจะทำให้ความหนืดของสสารลดลง เนื่องจากสสารไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันแต่เป็นสารแขวนลอย เช่น ไอศครีม โยเกิร์ต ครีม
- ของไหลแบบไดเลแทนต์ (Dilatant fluid) คือของไหลที่เมื่อมีแรงมากระทำจะทำให้ความหนืดของสสารเพิ่มขึ้น หากแรงกระทำรุนแรงมากสสารนั้นจะกลายสภาพเป็นของแข็ง เช่น น้ำแป้งข้น
- ของไหลแบบบิงแฮมพลาสติก (Bingham plastic fluid) คือของไหลที่เมื่อไม่แรงมากระทำจะคงสภาพเป็นของแข็ง หากมีแรงมากระทำจนถึงค่าหนึ่ง (yield value) ก็จะมีพฤติกรรมเป็นของไหล เช่น ซอสมะเขือเทศ
- ของไหลแบบนอนนิวโตเนียนที่ขึ้นกับเวลา
- ของไหลแบบทิโซทรอปิก (Thixotropic fluid) คือของไหลที่เมื่อมีแรงมากระทำแบบคงที่ ความหนืดของสารจะลดลงตามเวลาที่เพิ่มขึ้น
โดยเกราะของเหล่าขุนนางในเรื่อง Dune นั้นอาจเป็นอนุภาคบางอย่างที่อยู่เกาะกลุ่มกันด้วยสนามทางไฟฟ้าบางอย่าง ซึ่งลอยจัวอย่างหลวมคล้ายกับของไหล เมื่อมีแรงมากระทำที่สูงอันเนื่องมาจากพลังงานจลน์ที่สูง ทำให้อนุภาคมีการตอบสนองต่อแรงที่มากระทำและมีพฤติกรรมเฉกเช่นของแข็ง ซึ่งจะกีดขวางเส้นทางของวัตถุจนพลังงานจลน์ภายในของวัตถุหมดลง ขณธเดียวกันวัตถุที่มีพลังงานจลน์ต่ำ ทำให้อนุภาคของเกราะยังแสดงสภาวะเป็นของไหลอยู่
ArRakis ขุมทรัพย์แห่งจักรวาล
Arrakis คือดาวเคราะห์สมมุติที่ตั้งอยู่ ณ ส่วนหนึ่งของกาแลกซี่ ลักษณะภูมิประเทศของดาวดวงนี้คือปกคลุมด้วยทะเลทรายตลอดทั้งดวง ทำให้แหล่งน้ำของดาวดวงนี้มีน้อยมากเสียจนเราแทบจะไม่เห็นแหล่งน้ำใด ๆ เลยในดาวดวงนี้ จากบทสัมภาษณ์ Dune: we simulated the desert planet of Arrakis to see if humans could survive there ได้บรรยายถึงการจำลองสภาพอากาศบนดาวที่แห้งแล้งแห่งนี้ โดยอ้างอิงข้อมูลจากนวนิยายและสารานุกรม Dune
ดาว Arrakis มีลักษณะที่เป็นทรงกลมคล้ายโลกของเรา และคาบวงโคจรรอบดาวฤกษ์แบบเดียวกับโลกของเรา มีดวงจันทร์เป็นดาวบริวาร 2 ดวง (ถ้าดาวนี้เต็มไปด้วยน้ำแบบโลก ดาวนี้จมน้ำจากน้ำขึ้น-น้ำลงแน่ ๆ) บรรยากาศประกอบด้วยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 350 ppm ซึ่งน้อยกว่าบนโลกของเรา ในขณะเดียวกันชั้นโอโซนของดาวดวงนี้มีความเข้มข้นมากกว่าโลกเราถึง 0.5% ทำให้ดาวดวงนี้มีความอบอุ่นเป็นอย่างมาก โดยดาวดวงนี้ในช่วงที่อบอุ่นที่สุดจะมีอุณหภูมิเฉลี่ย 45 °C และช่วงที่หนาวที่สุดจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 15°C แต่ทว่าในบริเวณขั้วโลกและละติจูดกลางจะมีความผันผวนของอุณหภูมิที่สูงมากคืออุณฆภูมิสูงสุดที่ทำได้คือ 70°C (ตามหนังสือกล่าว) และอุณหภูมิต่ำสุดบริเวณละติจูดกลางคือ -40°C และบริเวณขั้วโลกคือ -75°C อย่างไรก็ตามในแบบจำลองนี้เราจะพบว่าบริเวณขั้วโลกคือบริเวณเดียวที่มีความชื้นอยู่ทั้งในรูปของไอน้ำที่ทำหน้าที่เป็นแก๊สเรือนกระจกและธารน้ำแข็ง โดยน้ำในรูปของเหลวมักพบบริเวณขั้วโลกและยอดภูเขาสูงและจะระเหยเป็นไอในทันทีที่อุณหภูมิร้อนขึ้น ทำให้ดาวดวงนี้ไม่เคยมีฝนตก
นักดาวเคราะห์วิทยาคนแรกบนดาวอย่าง พาร์ดอต ไคนส์ (Pardot Kynes) พ่อของ ดร.เลียต ไคนส์ (Liet Kynes) ตึ้งข้อสันนิษฐานว่าในอดีต Arrakis อุดมไปด้วยป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่เนื่องจากการขยายตัวของทะเลทราย ทำให้พื้นที่ป่าในอดีตลงลดพร้อมกับพื้นที่ชุ่มน้ำที่ลดลง ยิ่งกระตุ้นให้ดาวนี้ถูกปกคลุมด้วยทะเลทรายในที่สุด การที่ดาวนี้ปกคลุมด้วยทรายและมีแร่ธาตุที่สำคัญเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ทำให้ในอดีตใครก็ไม่รู้ (ไม่รู้คือไม่รู้จริง ๆ เรารู้แค่มันอยู่มาก่อนมนุษย์จะมายังดาวดวงนี้)ได้นำพวกหนอนทรายยักษ์หรือที่ชาวเฟรเมนเรียกว่า ชาไอ-ฮูลูด (Shai-Hulud) มายังดาวดวงนี้
การขยายตัวของทะเลทรายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกของเราโดยเฉพาะในแถบทะเลทรายซาฮาร่าที่ทะเลทรายกำลังขยายตัวมากขึ้นในทุกปี โดยกระบวนการนี้เราเรียกว่า การกลายสภาพเป็นทะเลทราย (Desertification) ซึ่งเกิดจากการเสื่อมโทรมของพื้นที่แห้งแล้งอันเนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปและการกระทำของมนุษย์ในการบริหารจัดการน้ำที่ไม่ดี โดยองค์การสหประชาชาติเผยว่าปัญหานี้อาจจะยังไม่เข้าสู่สภาวะวิกฤติ แต่การขยายตัวของรวดเร็วของทะเลทรายอาจจะยังน่าเป็นห่วงอยู่ ซึ่งวันที่ 17 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันต่อต้านการขยายตัวของทะเลทรายและภาวะแห้งแล้งโลก (World Day to Combat Desertification and Drought)
ชีวิตกลางทะเลทราย
ชาวเฟรเมน คือชนเผ่าทะเลทรายของดาว Arakis พวกเขามีวิถีชีวิตและการปรับตัวกับสภาพอากาศอันร้อนระอุของทะเลทราย พวกเขาอาศัยอยู่ในชุมชนที่เรียกว่า ซีตช์ มีผู้นำเป็นคนที่แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่ม ซึ่งสามารถถูกโค่นล้มลงได้หากมีคนเข้ามาท้าทายอำนาจและเอาชนะ พวกเขามีดวงตาสีฟ้าจากการสูดดม Spice Melange จำนวนมากจนทำให้ดวงตาของพวกเขาถูกขนาดนามว่า ดวงตาแห่งอิบาด (Eye of Ibad) พวกเขาเชื่อว่าหนอนยักษ์คือพระเจ้าผู้สร้างของดาวดวงนี้ ผสมเข้ากับแนวคิดแบบเซนซุนนี (พุทธนิกายเซน+อิสลามนนิกายซุนนี) ตามบรรพบุรุษของพวกเขา ซึ่งการมีรากของวัฒนธรรมมาจากชนเผ่าทะเลทรายนับตั้งแต่สมัยก่อนที่จะตั้งรกร้างบนดาว Arrakis ทำให้พวกเขาสามารถปรับตัวกับดาวทะเลทรายได้เป็นอย่างดี
วัฒนธรรมของเฟรเมนให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำเป็นสำคัญ พวกเรามองว่าน้ำคือสิ่งที่มีค่า ชุดของพวกเขาถูกออกแบบให้ไม่มีรอยรั่วเนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งและร้อน (wet-bulb temperature) การมีรอยรั่วเล็ก ๆ อาจส่งผลทำให้น้ำระเหยออกจากชุด ถือเป็นเรื่องอันตรายสำหรับคนที่อยู่อาศัยในทะเลทราย นอกจากฟังก์ชั่นที่ป้องกันการสูญเสียน้ำและการนำน้ำจากของเสียต่าง ๆ ในร่างกายมาบำบัดเพื่อแปรรูปกลับมาเป็นน้ำที่ใช้ในการดื่มแล้ว การรักษาอุณหภูมิของผู้สวมก็เป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนระอุในช่วงกลางวันและอากาศที่หนาวเหน็บในช่วงกลางคืน ทำให้มีความผันผวนของอุณหภูมิ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต
การเดินทางในอวกาศ คมนาคมแห่งอนาคต
ในยุคสมัยอวกาศที่มนุษย์ออกไปตั้งถิ่นฐานยังดาวต่าง ๆ ในอวกาศ การเดินทางสัญจรไปมาระหว่างดวงดาวจึงเป็นเรื่องสำคัญ การคมนาคมที่ดีทำให้การกระจายอำนาจจากศูนย์กลางลงไปทั่วถึงยังดินแดนที่ห่างไกล ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านจักรวรรดิโรมันในอดีตที่สร้างถนนหนทางในการสัญจรที่สะดวกสบาย ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินในจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่นี้ยังยืนหยัดได้นับร้อยปีก่อนที่จะล่มสลายลงด้วยน้ำมือของชนป่าเถื่อนนอกแนวจักรวรรดิ ดังนั้นเองจักรพรรดิผู้ปกครองจักรวรรดิที่มีอาณาเขตครอบคลุมนับพันดวงย่อมต้องพึ่งพาระบบคมนาคมที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำให้ดาวแต่ละดวงที่อยู่ห่างกันหลายปีแสงยังคงอยู่ในอำนาจการบริหารของจักรพรรดิ ไม่ใช่แค่นั้นการค้า Spice ที่ผลิตได้ในดาว Arrakis ต้องถูกส่งไปยังดวงดาวนับได้อย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนในจักรวรรดิ
รูหนอนกับปริภูมิเวลา
ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ใกล้ที่สุดของเราคือ Proxima Centauri b ซึ่งอยู่ห่างจากเราไป 4 ปีแสง หากเราสามารถเดินทางด้วยความเร็วเท่ากับแสงเราจะต้องใช้เวลาถึง 4 ปีจึงจะสามารถเดินทางไปถึง แต่ในความเป็นจริงแล้วเราไม่สามารถเดินทางได้ด้วยความเร็วแสงได้ (สามารถติดตามบทความเมื่อมนุษย์อยากเดินทางเร็วกว่าแสงได้ที่ : เมื่อมนุษย์อยากไวกว่าแสง เข้าใจการเดินทางข้ามอวกาศผ่าน Dune)
ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงต้องค้นหาวิธีการ หรือกฎเกณฑ์บางอย่างที่จะช่วยเพิ่มความเร็วในการเดินทางของมนุษย์ในอวกาศ ทำให้ระยะทางที่ไกลมาก ๆ หลายปีแสงใช้เวลาเพียงไม่นาน เฉกเช่นการมาถึงของเครื่องบินที่ทำให้การเดินทางไปข้ามทวีปเป็นเรื่องง่ายและสะดวกรวดเร็วขึ้นมากกว่าอดีตที่ต้องใช้เวลานานหลายเดือน หรือการมาถึงของคลื่นวิทยุ และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่ทำให้เราสามารถส่งข้อมูลข้ามทวีปได้ในชั่วพริบตา นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์เชื่อว่าวิธีการใการเดินทางข้ามปริภูมิเวลาได้เราจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือที่ชื่อว่า “รูหนอน”
สมมุติว่ามีเมืองอยู่ 2 เมืองตั้งอยู่ติดกันแต่มีภูเขาคั่นระหว่างเมืองทั้งสอง ตามปกติแล้วคนจากเมืองทั้ง 2 จะเดินทางไปมาโดยการอ้อมภูเขาลูกนี้ ซึ่งใช้เวลานานหลายวันจนกระทั้งวันหนึ่งผู้ว่าเมืองทั้งสองตกลงกันว่าจะสร้างอุโมงค์ขุดทะลุภูเขาเพื่อเชื่อมเมืองเข้าไว้ด้วยกัน การขุดอุโมงค์นี้ช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทางระหว่าง 2 เมือง โดยรูหนอนจะทำหน้าที่คล้ายกับอุโมงค์ซึ่งถูกขุดโดยทะลุกาล-อวกาศทำให้พื้นที่บนปริภูมิเวลาที่ห่างไกลกันหลายปีแสงถูกเชื่อมต่อกันด้วย Einstein-Rosen bridges หรือรูหนอน
รูหนอนคือ ทฤษฎีที่ใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง เรขาคณิตของกาลอวกาศ (spacetime geometry) และ สสาร (matter) ผ่านสมการของไอสไตน์ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเอกภพประกอบด้วย 3+1 มิติ โดยมิติที่เพิ่มเข้ามานั้นคือ เวลา ซึ่งเวลาไม่สัมบูรณ์ เวลาสามารถเดินทางได้ช้าลงได้เนื่องจากผลของความโน้มถ่วงที่ทำให้กาล-อวกาศเกิดการโค้งมน ซึ่งการโค้งมนของปริภูมิเวลาทำให้พื้นที่ที่อยู่ห่างไกลกันมาก ๆ เขยิบเข้ามาใกล้กันมากขึ้นดังนั้นหากเรานำอุโมงค์เชื่อมต่อพื้นที่นั้นก็จะสามารถเดินทางข้ามไปยังอีกตำแหน่งได้อย่างรวดเร็วขึ้น ซึ่งบริเวณที่มีความโน้มถ่วงอันมหาศาลนั้นก็คือ บริเวณหลุมดำที่ดูดกลืนทุกอย่างแม้แต่แสงก็ยังถูกดูดกลืนไปด้วยจากแผนภาพของ Penrose ซึ่งใช้อธิบายหลุมดำแบบ Schwarzshild (หลุมดำที่ไม่มีการหมุน) โดยหลุมดำชนิดนี้เกิดจากการที่สสารยุบตัวเข้าสู่ศูนย์กลางโดยมีขนาดเล็กกว่ารัศมีขอบฟ้าเหตุการณ์ (Event horizon) จะพบว่าจุดเชื่อมต่อของสองพื้นที่คือบริเวณหลุมดำ และหลุมขาวที่เป็นขั้วตรงข้ามกันและกัน
จะเห็นว่าเราสามารถเดินทางไปยังอีกจักรวาลหนึ่งผ่านรูหนอนได้ อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถสร้างหลุมขาวที่เป็นขั้วตรงข้ามของหลุมดำได้ อีกทั้งทางทฤษฎีแล้วเราจำเป็นต้องเดินทางด้วยความเร็วมากกว่าแสง ซึ่งขัดต่อสมมุติฐานของไอสไตน์ที่กล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดเดินทางได้เร็วกว่าแสงได้
นอกจากการตามหาหลุมดำและหลุมขาวแล้ว นักฟิสิกส์ได้ทดลองสร้างรูหนอนโดยที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยหลุมดำและหลุมขาวขึ้น นั่นคือการสร้างโครงสร้างเรขาคณิตของกาลอวกาศขึ้นมาตามที่ต้องการ แล้วพิจารณาคุณสมบัติของสสารดังกล่าว โดยยึดแนวคิดที่ว่ารูหนอนจะทำหน้าที่เชื่อมกาลอวกาศจากจุดหนึ่งกับอีกจุดหนึ่งที่อยู่ไกลๆ
เมื่อเราทำการศึกษาสสารที่ใช้ในก่อร่างเป็นรูหนอนนั้นจะพบว่าสสารที่ใช้ในรูหนอนเป็นสสารอุดมคติที่ไม่น่ามีจริง (exotic matter) โดยสสารแปลกประหลาดนี้ไม่จัดอยู่ในปฎิสสารและสสารมืด เช่น คุณสมบัติของสสารที่มีพลังงานเป็นลบ
ดังนั้นเองทฤษฎีรูหนอนจึงยังไม่อาจเป็นที่ยอมรับมากเนื่องจากเราไม่สามารถยืนยันได้ว่ารูหนอนมีจริงหรือไม่ในทางปฎิบัติ ถึงอย่างงั้นนักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงเชื่อมั่นว่ารูหนอนนี้จะช่วยเป็นคำตอบในการเดินทางในอวกาศในอนาคตให้มีความสะดวกและรวดเร็ว
The Butlerian Jihad กับกฎ 3 ข้อของหุ่นยนต์
เทคโนโลยีโรโบติกส์และปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าเป็นอย่างยิ่ง เราสามารถให้หุ่นยนต์และเอไอทำงานแทนที่เราในหลาย ๆ ด้าน เราจึงอาจถือได้ว่าหุ่นยนต์อาจจะเป็นประชากรกลุ่มใหม่ของอารยธรรมมนุษย์ที่จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อหุ่นยนต์เกิดการตื่นรู้และเข้าใจรูปแบบและแนวความคิดที่ละเอียดและซับซ้อน ซึ่งในจักรวาล Dune นั้นการตื่นรู้ของหุ่นยนต์ต่อความไม่จีรังของระบอบการปกครองโดยมนุษย์ ได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการก่อกบฎซึ่งนำมาสู่สงครามที่มีชื่อว่า Butlerian Jihad
ปัจจุบันนักวิชาการด้านสังคมเริ่มตระหนักได้ถึงอนาคตของมนุษยชาติที่หุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น นำมาสู่การทบทวนถึงกฎ 3 ข้อของหุ่นยนต์ของ Isaac Asimov นักเขียนนิยายไซไฟ ชาวอเมริกา ซึ่งถูกพูดถึงเมื่อมีการถกเถียงถึงการตั้งกฎหมายหุ่นยนต์ โดยกฎทั้ง 3 ข้อมีดัวนี้
- หุ่นยนต์ไม่อาจกระทำการใดให้มนุษย์ได้รับบาดเจ็บ หรือด้วยผลจากการนิ่งเฉยเป็นเหตุให้มนุษย์ได้รับอันตราย
- หุ่นยนต์จะต้องเชื่อฟังคนสั่งของมนุษย์ เว้นแต่คำสั่งนั้นๆ จะขัดแย้งกับกฎของที่หนึ่ง
- หุ่นยนต์ต้องปกป้องการคงอยู่ของตนเอง ตราบเท่าที่การปกป้องดังกล่าวไม่ขัดกับกฎข้อที่หนึ่ง และข้อที่สอง
กฎทั้ง 3 ข้อนี้ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้มนุษย์ได้รับอันตราย อย่างไรก็ตามกฎนี้เองก็มีปัญหาเกิดขึ้นเมื่อวิทยาการของมนุษย์ พัฒนาขึ้นเรามีแนวคิดที่จะนำเอาเซลล์ของสิ่งมีชีวิตมารวมเข้ากับหุ่นยนต์ หรือการที่หุ่นยนต์ที่สร้างโดย DNA หรือโปรตีน ซึ่งอาจเอามาใช้ในการผ่าตัดเพื่อแก้ปัญหายีนส์บกพร่อง โดยทางทฤษฎีแล้วเครื่องมือชนิดนี้สามารถทำตามกฎของอาซิมอฟได้ แต่ในการปฏิบัติตามคำสั่งผ่านสัญญาณของ DNA มันจะต้องรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับร่างกายของมนุษย์ทำให้หุ่นยนต์ตัวนี้อาจไม่ใช่หุ่นยนต์ในเวลาเดียวกัน เราจึงต้องทวนคำถามว่าในกรณีนี้เราสามารถใช้กฎหมายของหุ่นยนต์ได้หรือไม่ หรือในอนาคตหุ่นยนต์อาจมีการพัฒนาสติปัญญาจนสามารถตื่นรู้ถึงการมีตัวตนเพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมืองของหุ่นยนต์
เหตุการณ์ที่ดูเป็นไปไม่ได้นี้ อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากประสิทธิภาพของปัญญาประดิษฐ์ที่มีความก้าวล้ำมากขึ้นตามยุคสมัย ขณะเดียวกัน Machine Learning ก็มีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ
พลังแห่งพันธุกรรมของ Bene Gesserit
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดประกอบด้วยเซลล์ โดยแต่เซลล์ล้วนมีพิมพ์เขียวแบบเดียวกันที่เรียกว่า จีโนม ซึ่งอยู่ในรูปของดีเอ็นเอ และอาร์เอ็นเอ สำหรับเก็บรหัสเพื่อใช้ในการสร้างโปรตีนต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ดังนั้นการเข้าใจความหมายของรหัสแต่ละตัวจะช่วยให้เราสามารถเข้าใจกลไกและการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายสิ่งมีชีวิตได้ ในอดีตมนุษยชาติได้ทำอภิมหาโครงงานด้านเทคโนโลยีชีวภาพในการเก็บรวบรวมรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ ที่เรียกว่า The Human Genome Project โครงการนี้ทำให้เรารู้ว่ายีนแต่ละตัวที่อยู่บนโครโมโซมมีหน้าที่อะไร หากบกพร่องยีนตัวใดจะส่งกระทบอะไรต่อร่างกาย
Bene Gesserit คือแม่ชีที่เชื่อเรื่องพระผู้ช่วยให้รอดตามศาสนา เขาเชื่อว่าพระผู้ช่วยจะต้องเกิดในเวลาที่เหมาะสม และมีพันธุกรรมที่เหมาะสมต่อการขึ้นเป็นผู้ปกครองทั้งชาติตระกูลและสภาพร่างกาย พวกเขาจึงคอยชักใยการแต่งงานของเหล่าขุนนางแต่ละตระกูลเพื่อนำมาสู่เชื้อสายบริสุทธิ์ที่เหมาะสม พวกเขาสามารถควบคุมเพศของทารกที่เกิดเพื่อให้ลูกหลานที่เกิดมาสืบเชื้อสายทางสายไหน
การกำหนดว่าใครแต่งกับใครเพื่อให้ได้ลูกหลานที่เป็นสายเลือดที่บริสุทธิ์นี้คือ การคัดเลือกโดยฝีมือมนุษย์ (Selective breeding) ซึ่งเรามักใช้ในปศุสัตว์และเกษตรกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งสายพันธุ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการมนุษย์ ซึ่งแตกต่างจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติที่ต้องการหาสิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม แต่การคัดเลือกโดยมนุษย์คำนึงว่าลักษณะนั้นเป็น ที่ต้องการของมนุษย์หรือไม่ เช่น การคัดเลือกสายพันธุ์วัวนม, การผสมเพื่อคงลักษณะของสัตว์เลี้ยง ได้แก่ สุนัข แมว ซึ่งหากสัตว์ที่ผ่านการคัดเลือกไปใช้ชีวิตในธรรมชาติอาจไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อสภาพแวดล้อมใหม่ หรือการแข่งขันในธรรมชาติได้
อ้างอิง
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6875757/
https://en.wikipedia.org/wiki/Selective_breeding
https://www.scimath.org/lesson-physics/item/7220-2017-06-11-05-36-38
https://www.space.com/20881-wormholes.html#section-wormhole-theory
https://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/2362/non-newtonian-fluid