หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นานาชาติได้จัดการประชุม เพื่อพูดคุยและทำข้อตกลงกันเรื่องกฎบัตรสหประชาชาติในปี ค.ศ. 1945 และที่นั่นเป็นจุดกำเนิดไอเดียที่ว่า ควรมีองค์การที่คอยทำหน้าที่จัดการเรื่องสุขภาพอนามัยในทุกแห่งหนบนโลก ยกระดับความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขด้วยการศึกษา วิจัย และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่าง ๆ และป้องกันโรคระบาดที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศ จนกระทั่งไอเดียดังกล่าว ถูกกลั่นกรองผ่านประเทศสมาชิกของสหกประชาชาติ ก่อกำเนิดขึ้นเป็น “องค์การอนามัยโลก” หรือที่เรารู้จักกันในชื่อย่อว่า “WHO”
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะสงบลง ประวัติศาสตร์ชาติมนุษย์ต้องพบกับปัญหาสุขภาพ และโรคระบาดร้ายแรงกันมามากมาย และหลายครั้งที่โรคระบาดนั้นได้แพร่กระจายจากประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศหนึ่งได้อย่างง่ายดาย ผ่านเส้นทางการค้า และเส้นทางสงคราม ยกตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 1918 หรือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่สเปน ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านการเดินทางของทหารจากทุกภูมิภาคในสงคราม ก่อให้เกิดผู้ติดเชื้อประมาณ 500 ล้านคน ใกล้เคียงกับผู้ติดเชื้อก่อโรค COVID-19 ในปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลจากวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 2022 โรค COVID-19 ได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 6 ล้านคน ในขณะที่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สเปนในสมัยนั้น คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 50 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามเสียอีก
เห็นได้ชัดว่าโรคระบาดสามารถแพร่กระจายจากประเทศหนึ่งสู่ประเทศหนึ่งได้ง่ายมาก และไข้หวัดใหญ่สเปนไม่ใช่ครั้งแรก การจัดตั้งหน่วยงานกลางที่สามารถควบคุม และจัดการปัญหาด้านสาธารณสุขให้กับทุกประเทศทั่วโลกได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ วันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1948 องค์การอนามัยโลกจึงถือกำเนิดขึ้น ในสถานภาพเป็นองค์การชำนาญพิเศษของสหประชาชาติ คอยรับผิดชอบการประสานงานด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ปัจจุบันมีประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลกถึง 194 ประเทศ โดยองค์การอนามัยโลกทำหน้าที่ส่งเสริมและประสานงานด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่บางประเทศอาจทำไม่ได้โดยลำพัง รวมถึงจัดการบริการด้านสุขภาพอนามัยให้แก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และยังทำหน้าที่แก้ปัญหาโรคที่ยังไม่สามารถรักษาได้ เช่น ซาร์ส ไข้หวัดนก และ COVID-19 อีกด้วย
ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกมีบทบาทอย่างมากในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 ทั้งด้านการสนับสนุนการช่วยเหลือ ออกนโยบายแก้ไขปัญหา ติดตามการผลิตวัคซีน ไปจนถึงงานวิจัยเรื่องสายพันธุ์ใหม่ของเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่เสมอ ซึ่งภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กันก็คือทีมบุคลากรทางแพทย์ในแต่ละประเทศ ที่ยังคงต้องทำงานอย่างหนักในการรักษาสุขภาพผู้คน และต่อสู้กับสถานการณ์โรคระบาดที่ยังไม่จบสิ้น ทางเราขอเป็นอีกหนึ่งแรงใจ คอยเชียร์บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนอยู่เสมอนะครับ
อ้างอิง
World Health Organization | About
Centers for Disease Control and Prevention | History of 1918 Flu Pandemic