ถ้ายังจำสมัยที่เรียนชีววิทยาในโรงเรียนกันได้ ตอนที่เปิดหนังสือชีววิทยาในบทของเซลล์ (ซึ่งมักจะอยู่ในบทแรก ๆ ของหนังสือ) มักจะได้พบเจอกับชื่อของผู้ชายคนหนึ่ง ที่อยู่คอยต้อนรับผู้มาเยือนหน้าใหม่ที่พร้อมจะผจญภัยในโลกแห่งชีววิทยา เขาผู้นั้นก็คือ โรเบิร์ต ฮุค (Robert Hooke) นั่นเอง
โรเบิร์ต ฮุค เกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ปี ค.ศ.1635 บนเกาะ Isle of Wright นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ ฮุคเป็นผู้รอบรู้และเชี่ยวชาญในหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นชีววิทยา กลศาสตร์ เคมี ดาราศาสตร์ รวมไปถึงสถาปัตยกรรม นอกจากนั้นยังมีความสามารถในการประดิษฐ์สิ่งของที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย

ที่มา Arthistoryproject.com
และความสามารถในการประดิษฐ์ของเขาเอง ก็ทำให้ฮุคเป็นที่จดจำและโด่งดังจนอยู่ในหน้าหนังสือชีววิทยาหลายเล่มจนทุกวันนี้ คือการที่ฮุคได้ประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ชนิดเลนส์ประกอบขึ้นที่ด้านนอกมีลวดลายสวยงามเพื่อส่องดูสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก โดยฮุคใช้กล้องจุลทรรศน์ของเขาส่องดูเศษไม้คอร์ก (cork) ที่ถูกเฉือนเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วพบว่ามันประกอบไปด้วยห้องเปล่า ๆ เล็ก ๆ มากมายเหมือนกับที่พักอาศัยของนักบวช (Monk’s cell) จึงตั้งชื่อให้กับมันว่า “เซลล์ (cell)” ซึ่งเป็นชื่อเรียกของหน่วยย่อยที่สุดของสิ่งมีชีวิตในเวลาต่อมา ถึงแม้ว่าจะเป็นการค้นพบหน่วยย่อยที่สุดในสิ่งมีชีวิตก็ตาม แต่ครั้งที่ค้นพบนั้นเป็นเพียงแค่เซลล์ที่ตายแล้วและคงเหลือไว้เพียงส่วนของผนังเซลล์ (cell wall) เท่านั้น

ที่มา หนังสือ Micrographia

ที่มา หนังสือ Micrographia
และนอกจากการค้นพบเซลล์จากเศษไม้คอร์กแล้ว ฮุคยังใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอื่น ๆ อีกมากมาย ตั้งแต่จุลินทรีย์จนไปถึงแมลงขนาดเล็ก และวาดภาพที่เขาเห็นจากการส่องผ่านกล้องจุลทรรศน์ รวบรวมไว้ในหนังสือที่ชื่อ ‘Micrographia” ที่โด่งดัง ซึ่งถูกตีพิมพ์ขึ้นมาในปี ค.ศ. 1665 จนกลายเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์เล่มแรกที่ได้เปิดโลกแห่งสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กให้เป็นที่รู้จักแก่สายตาของคนทั้งโลก เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการบุกเบิกวิทยาศาสตร์แขนงใหม่ ในชื่อว่า จุลชีววิทยา (Microbiology) หรือศาสตร์แห่งการศึกษาสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก และเป็นแขนงย่อยของการศึกษาชีววิทยาในปัจจุบัน

ที่มา Wikipedia
นอกจากผลงานทางด้านชีววิทยาแล้ว ฮุคก็ได้สร้างผลงานที่โดดเด่นในด้านอื่น ๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น ในด้านฟิสิกส์กลศาสตร์ เขาคือผู้ค้นพบกฏแห่งความยืดหยุ่นของวัสดุที่มีชื่อว่า “Hooke’s law” ด้านดาราศาสตร์ ฮุคเป็นผู้ที่ได้เสนอแนวคิด Inverse-square law ที่กล่าวไว้ว่าแรงโน้มถ่วงของวัตถุบนท้องฟ้ามีค่าผกผันกับระยะทางระหว่างวัตถุยกกำลังสอง ด้านเคมี ฮุคได้เข้าร่วมการทดลองกับ Robert Boyle และได้นำทฤษฎีทางฟิสิกส์มาอธิบายพฤติกรรมของแก๊ส จนเกิดเป็นกฎของบอยล์ (Boyle’s law) ในเวลาต่อมา และในด้านสถาปัตยกรรม ฮุคได้เป็นผู้ออกเดินสำรวจทั่วกรุงลอนดอนหลังเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1666 และเป็นผู้ออกแบบอาคารที่สร้างขึ้นมาใหม่มากมาย เช่น อนุเสาวรีย์รำลึกเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในกรุงลอนดอน, Bethlem Royal Hospital, Montagu House in Bloomsbury, Royal College of Physicians, ตึกหนึ่งของ Magdalene College เป็นต้น
ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้เอง ทำให้ โรเบิร์ต ฮุค เป็นดั่งสุดยอดพหูสูตรแห่งยุค จนได้รับการยกย่องว่าเป็น Renaissance Man แห่งศตวรรษที่ 17 เลยทีเดียว
อ้างอิง
Live Science | Robert Hooke: English scientist who discovered the cell
Institute for Innovative Learning, Mahidol University | ประวัติการค้นพบเซลล์
University of California Museum of Paleontology | Robert Hooke
Oxford Academic | Robert Hooke: Physics, Architecture, Astronomy, Paleontology, Biology